xs
xsm
sm
md
lg

บขส.นำร่องประมูลพัฒนาเชิงพาณิชย์ “แยกไฟฉาย-ปิ่นเกล้า” เพิ่มรายได้หนุนธุรกิจเดินรถ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บขส.” หารายได้เพิ่ม เตรียมเปิดประมูลพัฒนาเชิงพาณิชย์ สถานีสามแยกไฟฉาย กว่า 3 ไร่ และปิ่นเกล้า ส่วนขนส่งเอกมัย รอเคลียร์แผนย้ายไปที่ใหม่ และพร้อมขยายธุรกิจขนส่งพัสดุ-ศูนย์ซ่อมรถบัส ด้าน “พิชิต” สั่งปรับตัว เป็นฟีดเดอร์รับเปิดสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่จะเป็นขนส่งหลังเชื่อมภูมิภาคแทน

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนา บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ครบรอบ 87 ปี ว่า บขส.มีการพัฒนาการให้บริการในหลายด้าน ทั้งบริการธุรกิจรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ที่สามารถส่งสินค้าได้ภายใน 1 วัน มีศูนย์ซ่อมรถบัสและจะพัฒนาบริการรองรับระดับอาเซียน มีบริการรถโดยสารเชื่อมเส้นทางในอาเซียน และปรับปรุงสถานีขนส่งให้มีรูปแบบที่ทันสมัย ขณะที่ฐานะการเงินมีความแข็งแกร่ง โดยมีสินทรัพย์ 5,000 ล้านบาท มีสภาพคล่อง ไม่มีปัญหาในการลงทุน

ทั้งนี้ แผนการย้ายสถานีหมอชิตแห่งใหม่กลับไปอยู่พื้นที่หมอชิตเดิม ที่ปัจจุบันเป็นศูนย์บำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้น ขณะนี้รอการดำเนินการในส่วนของกรมธนารักษ์ ตามแผนจะย้ายในปี 2566 หรืออีก 6 ปี โดยระหว่างนี้ จะต้องทำรายละเอียด ในการลดปัญหาจราจรซึ่งจะมีทางเชื่อม (แลมป์) เข้าตัวสถานี และเชื่อมกับทางด่วนศรีรัช และดอนเมืองโทลล์เวย์โดยตรง

ขณะที่ บขส.ต้องเตรียมตัวในการย้ายและปรับตัวในด้านบริการเพื่อรองรับการที่จะเปิดสถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์การคมนาคมขนส่งของประเทศ และอนาคตบางซื่อจะเป็นสถานีขนส่งกลางของอาเซียนอีกด้วย โดยคาดว่าจะมีประชาชนในบริการวันละ1 ล้านคน ภายในมีบริการทั้งระบบรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถ บขส., ขสมก. มีแท็กซี่ เชื่อมโยงการเดินทาง ได้ทั่วประเทศและอาเซียน ระบบรถไฟ เชื่อม 3 สนามบิน ดังนั้น อนาคตรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงจะเป็นขนส่งหลัก บขส.ต้องปรับตัวเป็นฟีดเดอร์เชื่อมจากสถานีรถไฟไปยังชุมชนและใช้เครือข่ายในการพัฒนาระบบขนส่งสินค้า และเพิ่มบริการด้านการท่องเที่ยวเข้าไปให้มากขึ้นโดยเฉพาะเส้นทางในอาเซียน

ด้านนายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส.กล่าวว่า บขส.มีแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ใน 3 จุด ได้แก่ เอกมัย, สามแยกไปฉาย, ปิ่นเกล้า โดยอยู่ระหว่างให้ที่ปรึกษา ศึกษาราคาตลาด การลงทุนและผลตอบแทน ชัดเจนภายใน 2 เดือนนี้ จากนั้นจะจัดทำทีโออาร์ และประกาศเชิญชวนต่อไป โดยจะเริ่มจุดแรกที่สามแยกไฟฉาย เนื้อที่ 3 ไร่เศษ จะประกาศทีโออาร์เร็วๆ นี้ จุดต่อไป คือ ปิ่นเกล้า จะเปิดให้พัฒนาในพื้นที่ด้านหลัง ประมาณ 7 ไร ส่วนด้านหน้า 3 ไร่เป็นจุดจอดสำหรับรถตู้โดยสาร ส่วนเอกมัย 7.5 ไร่ จะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยให้เอกชนจัดหาที่ดินแห่งใหม่ เช่น บริเวณบางนา จัดทำเป็นสถานีขนส่งแทน

ส่วนการย้ายกลับหมอชิตเดิมนั้นจะมีการศึกษาโครงสร้างอาคารเชิงวิศวกรรมที่จะรองรับรถโดยสารรุ่นใหม่ขนาดความยาว 15 เมตร จึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีรุ่นใหม่มาช่วยบริหารจัดการอาคาร แบบประเทศญี่ปุ่น ให้มีขนาดเล็กลงแต่สามารถรองรับการให้บริการผู้โดยสารได้ครอบคลุม รวมถึงการศึกษาการบริหารจัดการจราจร เพื่อให้ประชาชนเดินทางสะดวก

สำหรับผลประกอบการปี 2559 บขส.ขาดทุนสุทธิ 115.852 ล้านบาท ส่วนปี 2560 ในช่วง 8 เดือน (ต.ค. 59 - พ.ค. 60) บขส.มีรายได้ 2,369 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 298 ล้านบาท โดยจะเร่งแผนเพิ่มรายได้ ทั้งการเปิดเส้นทางใหม่ที่มีความต้องการเดินทาง และขยายธุรกิจรับส่งพัสดุภัณฑ์ ธุรกิจซ่อมบำรุงรถบัส ซึ่งอาจจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จะมีการพัฒนาต่อยอดธุรกิจด้านรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ โดยได้ขยายพื้นที่การให้บริการรับ-ส่ง พัสดุภัณฑ์ จากส่วนกลางไปยังภูมิภาค เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และยกระดับการให้บริการ ทำให้ปัจจุบัน บขส.มีศูนย์รับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ (ส่งของทั่วไทย รับได้ในวันเดียว : One Day One Night) ในส่วนกลาง ได้แก่ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร), สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (ถนนบรมราชชนนี), สถานีเดินรถรังสิต (บริเวณขาออก) และในส่วนภูมิภาค ได้แก่ สาขาที่ 1 จังหวัดเชียงราย, สาขาที่ 2 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, สาขาที่ 3 จังหวัดเชียงใหม่ และสาขาที่ 4 จังหวัดนครพนม ผู้ใช้บริการสามารถฝากส่งพัสดุภัณฑ์ได้ทุกขนาด ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการบรรจุภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งสามารถส่งได้ทั่วไทยรับได้ในวันเดียว ณ จุดบริการของ บขส.ทั่วประเทศอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น