xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟไทย-จีน 1.79 แสนล้านฉลุย จ้างกรมทางหลวงตอกเข็ม 3.5 กม. เร่งเปิดบริการปลายปี 64

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.เห็นชอบก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-โคราช วงเงิน 1.79 แสนล้าน ร.ฟ.ท.เตรียมจ้างตรงกรมทางหลวงตอกเข็ม 3.5 กม.แรก ต.ค.นี้เหตุประมูลจะล่าช้า ขณะที่ต่อรองค่าจ้างออกแบบจีน เหลือ 1,706 ล้าน “อาคม” เตรียมเจรจาร่วมครั้งที่ 10 ช่วง 15-17ส.ค. เซ็นสัญญาจ้างออกแบบ ตั้งเป้าเปิดปลายปี 64 ค่าโดยสาร 535 บาท เป้าผู้โดยสารวันละ 5,310 คน ด้าน สศช.ให้ตั้ง กก.กลางดูแผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีปั๊มรายได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (11 ก.ค.) มีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ตอนที่ 1 จากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. กรอบวงเงินลงทุน 179,413 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินกู้ในการดำเนินโครงการ และใช้งบประมาณในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2558 ให้นำเสนอโครงการต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อทราบ ในการแก้ไขกฎหมาย การผูกพันงบประมาณและการก่อหนี้ ทั้งนี้ ครม.ให้เพิ่มเติมเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือตั้งแต่การออกแบบ การผลิตบุคลากรทางราง การก่อสร้าง และให้มีคณะกรรมการกลางในการบริหารโครงการ เนื่องจากจะมีทั้งการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (TOD) และการพัฒนาเมือง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคมร่วมกันพิจารณาแผนพัฒนาเมืองตลอดสองข้างทาง

โดยจากการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 5-7 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ตกลงค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบที่ 1,706 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่ากรอบที่กำหนดไว้ 1,824 ล้านบาท ประมาณ 118 ล้านบาท โดยจะเสนอร่างสัญญาการออกแบบ หรือสัญญา 2.1 ต่อ ครม. จากนั้นจะมีการลงนามว่าจ้างจีนในการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 15-17 ส.ค. ในขณะเดียวกันจะเร่งเจรจาในส่วนของสัญญาจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง หรือสัญญา 2.2 ซึ่งคาดว่าจะลงนามได้ในต้นเดือน ก.ย. เพื่อนำไปสู่การก่อสร้างตอนแรก ระยะทาง 3.5 กม.

ทั้งนี้ เพื่อความรวดเร็ว การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะเจ้าของโครงการจะว่าจ้างกรมทางหลวง (ทล.) ในรูปแบบหน่วยงานรัฐต่อรัฐ เพื่อให้ก่อสร้างงานโยธา ตอนกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. วงเงิน 425 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน ต.ค.นี้ ส่วนตอนที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร 11 กม., ตอนที่ 3แก่งคอย-นครราชสีมา 119.5 กม., ตอนที่ 4 แก่งคอย-บางซื่อ 119 กม. จะเปิดประมูลก่อสร้างตามปกติ โดยได้เร่งรัดให้จีนส่งแบบอย่างต่อเนื่องภายใน 4 เดือน

เส้นทางจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะมี 6 สถานี ได้แก่ บางซื่อ, ดอนเมือง, อยุธยา, สระบุรี, ปากช่อง, นครราชสีมา โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงและควบคุมที่เชียงรากน้อย ขณะที่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 8.56% โดยจะมีการพัฒนาพื้นที่สถานี 3 แห่ง ซึ่งเป็นที่ดินรถไฟ คือ สระบุรี 90 ไร่ ปากช่อง 541 ไร่ และนครราชสีมา 272 ไร่ ขณะที่ประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเชิงกว้างจากการพัฒนาธุรกิจโดยรอบ การเติบโตของเมือง ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจะเพิ่มเป็น 11.68% และหากต่อเส้นทางไปถึงหนองคาย EIRR จะอยู่ที่ 11.45%

สำหรับกรอบวงเงินลงทุนรวม 179,413.21 ล้านบาทประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 13,069.60 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 122,593.92 ล้านบาท ค่างานระบบไฟฟ้า (M&E) 34,078.38 ล้านบาท จัดหาตู้รถไฟ 4,480 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษา 5,190.31

โดยจะใช้รถไฟฟ้า 6 ขบวน ความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. ใช้เวลา 1.17 ชม. ความจุ 600 ที่นั่ง/ขบวน เปิดให้บริการปลายปี 2564 ออกทุกๆ 90 นาที /ขบวน คาดว่าจะมีผู้โดยสารในปีแรกที่เปิดให้บริการ 5,310 คน/วัน และเพิ่มขึ้นเป็น 26,830 คน ในปี 2594 โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารคิดจากอัตราเริ่มต้นที่ 80 บาท บวก กม.ต่อไป กม.ละ 1.83 ได้แก่ กรุงเทพฯ-อยุธยา ค่าโดยสาร 195 บาท, สระบุรี ค่าโดยสาร 278 บาท, ปากช่อง ค่าโดยสาร 393 บาท และนครราชสีมา ค่าโดยสาร 535 บาท

สำหรับปริมาณผู้โดยสารประเมินจากปริมาณการเดินทางโดยรถ บขส.ปัจจุบันประมาณ 2 หมื่นคน/วัน ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการจริงพฤติกรรมการเดินทางจะเปลี่ยนไปและคาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาแผนการจัดระบบฟีดเดอร์เชื่อมต่อสถานีรถไฟไปยังเมืองนครราชสีมาและอำเภอต่างๆ เพื่อส่งผู้โดยสารเข้าระบบรถไฟความเร็วสูง

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินโครงการได้เสนอการลงทุนเข้าสู่แผนการบริหารหนี้สาธารณะแล้วในระยะ 5 ปี ได้แก่ ปี 2560 ลงทุน 2,648 ล้านบาท ปี 2561 ลงทุน 43,097 ล้านบาท ปี 2562 ลงทุน 62,216 ล้านบาท ปี 2563 ลงทุน 59,702 ล้านบาท และปี 2564 ลงทุน 12,017 ล้านบาท

“โครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟไทย-จีน โดยจะก่อสร้างช่วงแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กม.ก่อน ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย 359 กม. ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมต่อเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนและจีนเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าและท่องเที่ยว และไม่ทำให้ไทยเสียโอกาสในการสร้างการเจริญเติบโตในภูมิภาค แม้ผลตอบแทนทางการเงินจะต่ำ แต่มีผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวม จากการพัฒนาเมืองที่รถไฟวิ่งผ่านและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (TOD)” นายอาคมกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น