xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม” เตรียมแจงบอร์ดสภาพัฒน์รถไฟไทย-จีนประเทศได้ประโยชน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” เตรียมแจงรายละเอียดบอร์ด สศช.ลงทุนรถไฟความเร็วสูง “กรุงเทพฯ-โคราช” 1.79 แสนล้านเพื่อการเชื่อมโยงเป็นประโยชน์ประเทศ ด้านปลัดคมนาคมเผยแม้จีนออกแบบแต่มีวิศวกรไทยตรวจเช็กตามมาตรฐานไทย ยันค่าจ้างออกแบบ ค่าที่ปรึกษาเบิกจ่ายตามงวดงานที่ผ่านการตรวจรับ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้เตรียมพร้อมข้อมูลรายละเอียดในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ- นครราชสีมา เพื่อชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด สศช.) ในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ โดยจะไปชี้แจงด้วยตัวเอง ซึ่งประเด็นหลักๆ คือ เรื่องผลประโยชน์ในภาพรวม การเชื่อมโยง (connectivity) ผลประโยชน์ของประเทศ โดยหากบอร์ดสภาพัฒน์เห็นชอบจะเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติในต้นเดือน ก.ค.

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในการเจรจาของคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน จำนวน 18 ครั้ง ได้ยึดถือประโยชน์ของประเทศไทยเป็นหลัก โดยประเทศไทยจะลงทุนทั้งหมด ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางรวม 253 กิโลเมตร มูลค่า 179,412 ล้านบาท ซึ่งจีนเป็นฝ่ายออกแบบ ภายใต้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีน ขณะที่ฝ่ายไทยจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนด้านวิศวกรรมที่มีมาตรฐาน โดยจะมีวิศวกรไทยตรวจเช็กแบบจีนเช่นกัน

สำหรับวงเงินลงทุน 1.794 แสนล้านบาทนั้นจะเป็นเนื้องานในส่วนของไทยรับผิดชอบประมาณ 135,900 ล้านบาท เช่น ค่าเวนคืน ค่าการก่อสร้างงานโยธา, ค่าที่ปรึกษาโครงการ (PMC) ค่าวิศวกรที่ปรึกษาอิสระ หรือ ICE (Independent Certification Engineer) รวมถึงวิศวกรที่จะตรวจเช็กแบบ (Design Checker) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการก่อสร้างของไทย

ส่วนงานที่จีนรับผิดชอบมีวงเงินประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท ได้แก่ งานออกแบบ ซึ่งไทยกำหนดกรอบค่าจ้างที่ 1,824 ล้านบาท โดยกำลังเจรจา คาดว่าจะต่ำกว่ากรอบและจีนจะเบิกค่าจ้างได้ตามงวดงานที่จัดส่งแบบและผ่านการตรวจรับ, ค่าที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง (CSC) วงเงิน 1,600 ล้านบาท, งานระบบราง, ระบบอาณัติสัญญาณ และระบบรถไฟฟ้า

ด้านสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ชี้แจงว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีระยะทางรวม 253 กิโลเมตร มี 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 กลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ช่วงที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 กิโลเมตร ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 119.5 กิโลเมตร ช่วงที่ 4 แก่งคอย-บางซื่อ ระยะทาง 119 กิโลเมตร ซึ่งการดำเนินการก่อสร้าง 3.5 กิโลเมตรเป็นเพียงการเริ่มต้นก่อสร้างในช่วงแรกจาก 4 ช่วง และจะดำเนินการก่อสร้างต่อเนื่องจนครบ 4 ช่วง รวมระยะทาง 253 กิโลเมตรต่อไป ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย  (ร.ฟ.ท.) ได้มีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเรียบร้อยแล้ว โดยโครงการจะมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี การพัฒนาเมืองตามแนวเส้นทางรถไฟเพื่อให้การลงทุนโครงการเกิดผลประโยชน์สูงสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น