วพม.4 เปิดเวที “หลุมดำพลังงานไทย” ระดมสมองเปิดทางออก นักวิชาการแนะประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกชด้วยระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC) ขณะที่ ปตท.สผ.พร้อมประมูลแหล่งบงกชแน่ แย้มชอบระบบสัมปทานมากกว่า ด้านเชฟรอนขอดูเงื่อนไข TOR ก่อนตัดสินใจ
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยในงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “หลุมดำ พลังงานไทย” โดยคณะนักศึกษาหลักสูตรด้านวิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ รุ่นที่ 4 (วพม.4) สถาบันวิทยาการพลังงาน ที่มี พล.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นประธานเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ว่า การเปิดประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-66 นั้นรัฐควรจะใช้วิธีการประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC โดยกำหนดผลตอบแทนภาครัฐและจูงใจการลงทุนเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน และควรเร่งดำเนินการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบ 21 หรือรอบใหม่ เพื่อให้เกิดการใช้ก๊าซฯ จากแหล่งในประเทศมากที่สุด
“รัฐยังได้ประโยชน์จากภาษี ค่าภาคหลวงการลงทุนต่อเนื่องนับเป็นแสนล้านบาทต่อปี แต่หากไม่พึ่งพาในประเทศมีแต่การนำเข้าแอลเอ็นจี ไทยต้องเสียดุลการค้า ประโยชน์จำตกแก่ประเทศผู้ผลิตเท่านั้น ขณะเดียวกัน แผนการผลิตไฟฟ้าของประเทศระยะยาว หรือพีดีพีที่กระทรวงพลังงานกำลังปรับปรุงก็ควรเน้นเรื่องการเพิ่มพลังงานทดแทนจาก 20% เป็น 40% เพราะต้นทุนต่ำลง” นายพรายพลกล่าว
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทกำลังรอการประกาศหลักเกณฑ์การประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่หมดอายุสัมปทานในปี 2565-2566 คือแหล่งเอราวัณ-บงกช อย่างเป็นทางการ ซึ่งในฐานะเป็นผู้ดำเนินการ หรือโอเปอเรเตอร์ แหล่งบงกช ดังนั้นจะยื่นประมูลแหล่งบงกชอย่างแน่นอน ส่วนแหล่งเอราวัณนั้นกำลังหารือกับพันธมิตร คือ เชฟรอน อย่างใกล้ชิดว่าจะร่วมดำเนินการกันอย่างไร หรือต่างฝ่ายต่างประมูล
“ภาครัฐเองอยากให้ประมูลทั้งแหล่งเอราวัณ และบงกช ซึ่งหากรัฐจะเปิดประมูลด้วยระบบสัมปทานนั้นจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อการผลิต แต่ไม่ว่าจะระบบใดก็พร้อมที่จะประมูล ซึ่งปัจจุบัน ปตท.สผ.เป็นโอเปอเรเตอร์แหล่งบงกช มีกำลังการผลิตก๊าซฯ 840 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน” นายสมพรกล่าว
นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า บริษัทขอดูหลักการทีโออาร์ที่กระทรวงพลังงานคาดการณ์ว่าจะประกาศออกมาได้ในเดือนสิงหาคมนี้ว่ามีรูปแบบอย่างไร จึงจะขอตอบว่าจะประมูลอย่างไร ซึ่งปัจจุบันนี้บริษัทยังคงผลิตก๊าซฯ ตามสัญญา โดยความตั้งใจของเชฟรอนนั้น เมื่ออยู่เมืองไทยลงทุนมายาวนาน 50 ปีแล้วก็มีความคาดหวังจะลงทุนต่อยาวนานอีกไม่ต่ำกว่า 50 ปี
นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองแผนงานเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ล่าสุดจากการเจรจาผู้ผลิตแหล่งเอราวัณและบงกชทั้ง 2 รายจะคงกำลังผลิตนานถึงปี 2562-2563 ส่วนในช่วง 3 ปีก่อนที่จะหมดอายุสัมปทาน ทางผู้ผลิตก็รอดูกลไกว่าภาครัฐจะมีแนวทางร่วมยืดอายุการผลิตอย่างไร
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ กล่าวว่า กำลังหารือร่วมกับกรมสรรพากรว่าจะหาแนวทางร่วมกันในการยืดอายุแหล่งผลิตได้อย่างไร เช่น ปกติแล้วทางเอกชนจะสามารถนำค่าใช้จ่าย นำค่าเสื่อมจากการลงทุนหลุมผลิตไปหักค่าใช้จ่ายภายใน 5 ปี แต่เมื่ออายุสัมปทานก่อนสิ้นสุดสัญญาเหลือเพียง 3 ปี จะลดระยะเวลา หรือนำช่วงเวลาที่เหลือไปหักค่าใช้จ่ายกับแหล่งผลิตแหล่งอื่นได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม นับว่ามีข่าวดีที่เชฟรอนยืนยันจะผลิตในอัตราปัจจุบันไปจนถึงปี 2562 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ปตท.สผ.ยืนยันกำลังผลิตเท่าเดิมไปจนถึงปี 2563
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนคำนึงถึงมากที่สุดคือเสถียรภาพความมั่นคงทางพลังงาน ต้นทุนพลังงานต้องมีความเหมาะสม ต้นทุนราคาพลังงานต้องทำให้ยอมรับได้ และในอนาคตภาครัฐต้องเตรียมพร้อมสำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น ที่จะเกิดจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการระบบราง ซึ่งต้องวางแผนรองรับให้เพียงพอ
นายคุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ และรอบ 21 ที่ล่าช้า 4-5 ปีเพราะมีความเข้าใจในข้อมูลที่คลาดเคลื่อน รัฐบาลต้องรับฟังข้อมูลให้รอบด้าน ทั้งนี้ก ารประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณนั้นคงไม่สามารถระบุเรื่องวงเงินได้ แต่การประมูลจะต้องมีการกำหนดเรื่องข้อเสนอกำลังผลิตขั้นต่ำ การวางแผนเพิ่มกำลังผลิตในอนาคตได้เท่าใด เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ในขณะเดียวกันจะต้องมีการแข่งขันเรื่องเงินให้เปล่าเบื้องต้นแก่ภาครัฐอีกด้วย โดยภาพรวมต้องดูทั้งเรื่องความมั่นคงทางพลังงานและผลตอบแทนแก่รัฐ