xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ยันเซ็น MOU รถไฟไทย-จีน เน้นถ่ายทอดเทคโนโลยีคนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คมนาคมระบุ MOU รถไฟไทย-จีนมุ่งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมให้บุคลากรไทย รองรับการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงทั้งเดินรถ และซ่อมบำรุง เผยส่งเจ้าหน้าที่รถไฟอบรมที่จีนแล้ว 2 รุ่น รวม 80 คน โดยจีนออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ในการดำเนินโครงการความร่วมมือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้ริเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2553 และได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี 2557 เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ซึ่งเป็นการขนส่งรูปแบบใหม่ของประเทศไทยที่ให้บริการประชาชนในการเดินทางอย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

กระทรวงคมนาคมได้เตรียมการรองรับการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง โดยที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างประเทศไทยกับรัฐบาลจีนมาอย่างต่อเนื่อง สาระสำคัญประการหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายได้ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ คือเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรม ซึ่งได้มีการดำเนินการไปแล้วบางส่วน

ได้แก่ 1. การดำเนินการบันทึกความเข้าใจ (MOU) กำหนดให้ฝ่ายจีนจัดให้มีการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานและพัฒนาด้านระบบรถไฟความเร็วสูง โดยที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ส่งบุคลากรของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ไปฝึกอบรมที่ประเทศจีน จำนวน 2 รุ่น รุ่นละ 40 วัน รวมจำนวน 80 คน เพื่อให้บุคลากรของ ร.ฟ.ท.มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระบบรถไฟความเร็วสูงของจีน การบริหารจัดการเดินรถไฟความเร็วสูง และการซ่อมบำรุงดูแลรักษาทั่วไป

2. ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน กระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เสนอหลักสูตรฝึกอบรมเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงให้แก่บุคลากรไทยแบบให้เปล่า เพื่อให้บุคลากรไทยได้มีองค์ความรู้ด้านระบบรถไฟความเร็วสูง ซึ่งตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาได้ดำเนินการไปแล้วจำนวน 170 คน และล่าสุดได้จัดให้มีการฝึกอบรมในหัวข้อ “2017 Seminar on Railway for Thai Lecture” โดยกระทรวงคมนาคมได้พิจารณาคัดเลือกผู้แทนไทยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินงานด้านระบบราง และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ารับการฝึกอบรมและสัมมนาดังกล่าวจำนวน 25 คน ระหว่างวันที่ 17 มิถุนายน-6 กรกฎาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัย Beijing Jiaotong กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

หลักสูตรดังกล่าวนี้ฝ่ายจีนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ฝ่ายไทยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่ได้นำมาคิดเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนแต่อย่างใด

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้กำหนดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรม โดยกำหนดให้มีบุคลากรไทยปฏิบัติงานร่วมกับบุคลากรจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาการออกแบบรายละเอียด สัญญาการควบคุมงานก่อสร้าง และสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องจัดเตรียมงานอย่างเป็นระบบร่วมกันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น