ผู้รับเหมาร้องทีโออาร์ทางคู่ล็อกเงื่อนไขงานก่อสร้าง “อุโมงค์-ราง” ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อสั่งเร่งพิจารณา ด้าน “อานนท์” เสนอบอร์ด ร.ฟ.ท.วันนี้ เผยเทคนิคอุโมงค์หินกับดินอ่อนไม่เหมือนกัน ขณะที่ยันโรงงานผลิตรางเปิดกว้างแล้ววัดที่คุณภาพตัวรางตามมาตรฐาน
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อ) ที่มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้ติดตามประเด็นที่มีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ร้องเรียนถึงกรณีเงื่อนไขทีโออาร์โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ ราคากลาง 9,326.83 ล้านบาท ซึ่งทีโออาร์กำหนดให้ผู้ยื่นประมูลต้องมีประสบการณ์เจาะอุโมงค์หินเท่านั้น ซึ่งเป็นสเปกที่แคบทำให้ผู้มีประสบการณ์เจาะอุโมงค์ประเภทอื่นไม่สามารถเข้าร่วมได้ เช่น อุโมงค์ใต้ทะเล อุโมงค์ใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นงานที่มีความยากมากเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีการร้องเรียนเงื่อนไขโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ-โคกกะเทียม (ทางรถไฟยกระดับ) ราคากลาง 10,091.730 ล้านบาท ซึ่งผู้รับเหมาจะต้องมีประสบการณ์ก่อสร้างทางยกระดับเท่านั้น ซึ่งจะทำให้งานนี้มีผู้ที่สามารถยื่นได้ประมาณ 3 รายเท่านั้น คือ รายที่เคยทำงานก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อมองว่าทีโออาร์ควรเปิดกว้างมากกว่านี้เพื่อให้ผู้รับเหมารายกลางได้แจ้งเกิดกับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และการปลดเงื่อนไขเหล่านี้จะแก้ไขการผูกขาดประมูลได้อย่างถาวร
และยังมีประเด็นที่ถูกร้องเรียนคือ การกำหนดโรงงานผลิตรางว่าจะต้องมี ISO 9002 ซึ่งโรงงานที่จะเข้าข่ายมีน้อยมาก โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าก่อนหน้านี้ไม่ได้กำหนดเฉพาะเรื่อง ISO9002 โดยจะให้ใช้การจ้าง Third Party ตรวจสอบ หรือเป็นโรงงานที่มาตรฐานระดับเดียวกับมาตรฐาน TUV มาเทียบเคียงด้วยได้ จึงให้ ร.ฟ.ท.พิจารณาเรื่องการเพิ่มถ้อยคำเพื่อให้เกิดการเปิดกว้างมากที่สุด
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า จะนำข้อคิดเห็นของซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อรายงานต่อมี่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. ในวันนี้ (19 มิ.ย.) พร้อมจะให้เชิญวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างอุโมงค์ให้ข้อคิดเห็นประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ หลักการในการกำหนดทีโออาร์งานอุโมงค์นั้น เนื่องจากมองว่าเทคนิคและความปลอดภัยในงานขุดอุโมงค์หินจะแตกต่างจากอุโมงค์ที่เป็นดินอ่อน หรืออุโมงค์ประเภทอื่น แต่ทั้งนี้หากผู้เชี่ยวชาญเห็นงานเทคนิคมีความใกล้เคียงกันอาจจะพิจารณาตัดคำว่า “หิน” ออก เหลือ แค่ “อุโมงค์” อย่างไรก็ตาม มีการแยกงานอุโมงค์ออกมาเป็นสัญญาเดี่ยว ซึ่งประเมินว่าจะมีผู้ยื่นได้ประมาณ 3 ราย ถือว่าเพียงพอต่อการพิจารณาระดับหนึ่ง
สำหรับกรณีโรงงานผลิตรางต้องมี ISO 9002 นั้น ยืนยันว่าไม่มีการล็อกใดๆ เนื่องจากจะกำหนดคุณสมบัติของรางที่ต้องการอยู่แล้ว ซึ่งรางจะมีคุณสมบัติเฉพาะตัวทั้งความแข็งแรง การยืดตัว ประเด็นนี้อาจเป็นเรื่องของการตีความข้อความซึ่งหากมีข้อสงสัยจะพิจารณาอีกครั้ง