xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวเปิดประมูลใหม่ 10 เม.ย. บอร์ดรถไฟอนุมัติ TOR ทางคู่ นำร่อง “หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ด ร.ฟ.ท.อนุมัติ TOR รถไฟทางคู่ ช่วง “หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์” พร้อมเร่งปรับราคากลาง คาดอยู่ที่ 8 พันล้าน เร่งประกาศลงเว็บ 10 เม.ย.นี้ ขายแบบปลายเดือน เม.ย. ส่วนอีก 4 เส้นทางทยอยประกาศ TOR ครบใน พ.ค. พร้อมยกเลิกประมูลเดิม และเตรียมรายงานคืบหน้าซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อฯ 12 เม.ย. ขณะที่บอร์ดติง บ.ลูกบริหารทรัพย์สิน ร.ฟ.ท.ถือ 100% หวั่นไม่คล่องตัว

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.วันที่ 6 เม.ย. ได้เห็นชอบเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) โครงการรถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. โดยอยู่ระหว่างปรับราคากลางอีกเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ ประมาณ 8,000 ล้านบาทเศษ โดยจะประกาศทีโออาร์ลงเว็บไซต์ ร.ฟ.ท.ในวันที่ 10 เม.ย.นี้เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็น ตามขั้นตอนการประมูล อี-อ็อกชัน และขายเอกสารประกวดราคาได้ภายในปลายเดือน เม.ย. จากนั้นจะทราบผลผู้ชนะการประมูลประมาณสิ้นเดือน มิ.ย และลงนามสัญญาก่อสร้างในเดือน ก.ค. โดยตั้งเป้าที่จะเริ่มก่อสร้างในช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้

พร้อมกันนี้จะได้ลงนามในประกาศยกเลิกการประมูลรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางที่ผ่านมาด้วย และในทางคู่ขนาน จะรายงานความคืบหน้า ต่อคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ (ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อ) ในการประชุม 12 เม.ย.นี้ด้วย หากทางซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมอย่างไร สามารถนำมาปรับแก้ในช่วงที่เปิดรับฟังความคิดเห็นได้

และหลังจากนี้จะทยอยประกาศสัญญางานโยธาและระบบราง รถไฟทางคู่ อีก 4 เส้นทาง รวม 9 สัญญาได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร และช่วงนครปฐม-หัวหิน ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางจิระ โดยตามแผนงานจะทยอยประกาศร่าง TOR ลงเว็บไซต์ครบภายใน 4 สัปดาห์หลังจากนี้ ส่วนงานประมูลระบบอาณัติสัญญาณนั้น คาดว่าจะทยอยประกาศ TOR หลังงานโยธาคืบหน้าไปได้ระยะหนึ่งก่อน

“ราคากลางของสายหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ กำลังเร่งสรุปเพราะมีปรับลดลงเนื่องจากการตัดค่าเครื่องมือเครื่องจักรที่ให้ผู้รับจ้างซื้อออกและค่าระบบอาณัติสัญญาณออกจากเดิมที่ผูกรวมไว้ในสัญญาเดียว โดยราคากลางเดิมอยู่ที่ 9,990 ล้านบาท ขณะนี้ประเมินราคากลางใหม่ อยู่ที่ 8,000 ล้านบาท บวกลบนิดหน่อย เพราะโดยเฉลี่ยค่าเครื่องจักรมีวงเงินประมาณ 400-500 ล้านบาท โดยต้องปรับเป็นการเช่า ซึ่งต้องใส่ค่าเช่ากลับเข้าไปในราคากลาง แทนค่าจัดซื้อ กำลังดูตัวเลขอยู่ ยังไม่นิ่ง”

บอร์ดติง บ.ลูกบริหารทรัพย์สิน ร.ฟ.ท.ถือ 100% หวั่นไม่คล่องตัว

นอกจากนี้ บอร์ด ร.ฟ.ท.ได้เห็นชอบหลักการจัดตั้งบริษัทลูกบริหารทรัพย์สิน โดยให้ทำข้อมูลเพิ่มเติมในบางประเด็นที่บอร์ดตั้งข้อสังเกต เช่น กรณีให้เพิ่มสัดส่วนของเอกชนร่วมบริหารจะมีความรล่องตัวมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งจะต้องเสนอบอร์ดอีกครั้งจากนั้นจึงจะเสนอต่อไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาให้ความเห็นต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า แผนจัดตั้งบริษัทลูกบริหารทรัพย์สินนั้น ร.ฟ.ท.ถือหุ้น 100% เพื่อให้เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยจะมีการยกเว้นกฎระเบียบบางเรื่องที่เป็นอุปสรรคในการทำงาน โดยใช้บทเรียนจากบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (ผู้ให้บริการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์) พร้อมทั้งจะต้องว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาเป็นผู้บริหารบริษัทลูกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น