xs
xsm
sm
md
lg

เด็ก ปชป.แนะนายกฯ ชงซูเปอร์บอร์ดทบทวนต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ แถลงเรื่อง "ต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ใครได้ – ใครเสีย" ตอนที่ 4 ว่า  ตามที่ตนได้เคยแถลงว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 6 ตุลาคม 2558 เห็นชอบให้ยุติการดำเนินการประมูลเพื่อคัดเลือกภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนนั้น หลังจากนั้นในวันที่ 15 มกราคม 2559 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ลงนามในคำสั่งที่ 485/59 ตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ลงนามในคำสั่งที่ 184/59 แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ

ทั้งนี้ ในคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 42/59 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2559 ได้บอกวิธีการดูแลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ และคณะกรรมการกำกับฯ พิจารณาร่วมกันเพื่อคัดเลือกบริษัทเอกชนให้เข้ามาดำเนินการ

นายวิลาศ กล่าวอีกว่า ปรากฏว่าทั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ และคณะกรรมการกำกับฯ มีชื่อของนายนพดล เพียรเวช เป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งปัญหาอยู่ที่นายนพดล มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของ บมจ.ช.การช่าง ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้สัมปทานดังกล่าวด้วย ถามว่ามีที่ไหนที่ตั้งคนที่อยู่ในบริษัทคู่สัญญามาเจรจากับตัวเอง ซึ่งการเจรจาจะเอื้อประโยชน์หรือไม่ ตนไม่ทราบ แต่โดยมารยาทถือว่าไม่เหมาะสม

นายวิลาศ กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ดังนั้น อยากเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ซึ่งเป็นคนออกคำสั่ง คสช.ที่ 11/2560 เรื่องการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ  ใช้อำนาจในข้อ 6 โดยให้ พล.อ.ประยุทธ์ เสนอให้ซูเปอร์บอร์ดทบทวนเรื่องการต่อสัญญาดังกล่าว ทั้งนี้ ยืนยันว่า ตนไม่ได้ติดใจทาง ช.การช่าง เพราะคนทำธุรกิจย่อมต้องมีกำไร แต่ตนติดใจฝ่ายข้าราชการที่เอื้อประโยชน์มากเกินไปหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น