xs
xsm
sm
md
lg

ระเบียงเศรษฐกิจ อีอีซี แผนการพัฒนาแหล่งน้ำรองรับ 20 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor)” เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ดที่มีอยู่ก่อนแล้ว

มีทั้งการเสริมอุตสาหกรรมเดิม 5 อย่าง และเพิ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอีก 5 อย่างชนิด เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมซ่อมอากาศยาน อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป็นต้น กำลังสร้างมูลค่าเศรษฐกิจมหาศาลเกิดขึ้นจากพื้นที่ตรงนี้ โดยเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานเข้าไป เช่น รถไฟความเร็วสูง ท่าอากาศยานพาณิชย์อู่ตะเภา ท่าเรือ ทางด่วน ฯลฯ รวมทั้งปัจจัยที่ขาดเสียมิได้ คือ โครงสร้างด้านน้ำและต้องเป็นน้ำคุณภาพ มีปริมาณที่สร้างความเสถียรเพื่อไม่ให้การผลิตชะงักงัน

อุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ดมาเผชิญปัญหาใหญ่เมื่อปี 2548 เมื่อเกิดภาวะแล้งจัดขาดแคลนน้ำ จนกลายเป็นชนวนบาดหมางระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรกรรม

“ตอนนั้นเฉพาะระยองมีอ่างเก็บน้ำเพียง 2 อ่างเท่านั้น คือ อ่างฯ ดอกกราย กับอ่างฯ หนองปลาไหล พอเผชิญแล้งจัดปัญหาน้ำก็ปะทุชัดขึ้น” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าว

“ปัจจุบันระยองมีอ่างเก็บน้ำ 5 แห่ง ที่เพิ่มขึ้นคืออ่างฯ คลองใหญ่ อ่างฯ คลองระโอก และอ่างฯ ประแสร์ โดยเฉพาะประแสร์จะเป็นชุมทางใหญ่ในการผันน้ำผ่านระบบท่อไปยังอ่างฯ คลองใหญ่ และอ่างฯ หนองปลาไหล ซึ่งจะกระจายน้ำต่อไปยังชลบุรีอีกด้วย ในขณะที่ชลบุรี โดยอ่างฯ บางพระได้รับการผันน้ำเจ้าพระยาจากคลองพระองค์ไชยานุชิต ทำให้คลายปัญหาความเดือดร้อนลงได้มาก”

นายประสานต์ พฤกษาชาติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานระยอง กล่าวว่า เฉพาะ จ.ระยอง มีสัดส่วนการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมมากที่สุด 53% รองลงมาเป็นภาคเกษตรกรรม อุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ ซึ่งสะท้อนสัดส่วนการใช้น้ำของ จ.ชลบุรี และ จ. ฉะเชิงเทรา ในทำนองเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่การเกษตรใน จ.ระยองมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน จากที่เคยมีพื้นที่ทำนา 30,000 ไร่ ก็ลดลงเหลือกว่า 10,000 ไร่ เนื่องจากการขยายตัวของชุมชน บ้านจัดสรร ส่วนใหญ่ของภาคเกษตรจึงเป็นสวนไม้ผล ซึ่งใช้น้ำมากในช่วงฤดูแล้งขณะเริ่มติดผล และกำลังเติบโตช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม

สำหรับชลบุรี แหล่งอุตสาหกรรมใหญ่ประสบปัญหาน้ำ เพราะอ่างเก็บน้ำหลักมีน้อยแห่ง ความจุไม่มากนัก มีอ่างเก็บน้ำบางพระ ความจุ 117 ล้าน ลบ.ม. แต่ไม่ค่อยมีน้ำเต็มอ่าง ส่วนหนึ่งเกิดการขยายชุมชนกีดขวางทางน้ำไหลลงอ่าง อ่างเก็บน้ำหนองค้อ ความจุ 20 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำมาบประชัน 16 ล้าน ลบ.ม. ภูมิประเทศของชลบุรีเองก็ค่อนข้างยากแก่การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ แม้กระทั่งอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชโลทรที่เพิ่งสร้างเสร็จมีลักษณะแบน ต้องใช้พื้นที่ก่อสร้างอ่างจำนวนมาก

ฉะเชิงเทรา มีอ่างเก็บน้ำหลักคืออ่างเก็บน้ำคลองระบม ความจุ 55 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำคลองสียัด 420 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอในการดูแลตัวเอง

ที่ผ่านมาชลบุรีจึงเผชิญปัญหาน้ำมากที่สุด และระยองก็เผชิญปัญหาตามมา เมื่ออุตสาหกรรมขยายตัวที่ระยองมากขึ้น แต่ค่อยๆ แก้ไขจนสามารถคลี่คลายปัญหาน้ำลงได้มาก

ดร.สมเกียรติกล่าวอีกว่า ปัจจุบันภาคตะวันออกมีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ความจุรวม 2.337 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 9.5% ของปริมาณน้ำท่า เฉพาะพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัดมีน้ำเก็บกัก 1,331 ล้าน ลบ.ม. สภาพความต้องการน้ำใน 3 จังหวัดอีอีซีเพื่อการอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมปีละ 628 ล้าน ลบ.ม. ได้รับการจัดสรรจากโครงข่าย 325 ล้าน ลบ.ม./ปี ที่เหลือน้ำจากแหล่งอื่นนอกระบบโครงข่าย เช่น
น้ำบาดาล แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นต้น

ปริมาณน้ำที่จัดสรรให้ 325 ล้าน ลบ.ม./ปีนั้น แหล่งน้ำฝนระบบโครงข่ายยังรองรับได้อีก 4 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับระยะ 20 ปีภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอีอีซี ความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมจะเพิ่มเป็น 1,200 ล้าน ลบ.ม./ปี จำเป็นต้องได้รับการจัดสรรจากระบบโครงข่ายกรมชลประทานรวม 1,000 ล้าน ลบ.ม. พร้อมๆ กับปัญหาน้ำท่วมที่แถมพ่วงเข้ามาด้วย

กรมชลประทานวางแผนแก้ปัญหาน้ำ โดย 1. ปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม 2. พัฒนาแหล่งน้ำใหม่ 3. เชื่อมโยงแหล่งน้ำและระบบผันน้ำ 4. สูบกลับน้ำท้ายอ่างเก็บน้ำ 5. ป้องกันน้ำท่วม

แผนในระยะ 5 ปีแรกเป็นการจัดหาน้ำภายในประเทศให้เต็มศักยภาพ โดยการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่เดิม 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างฯ หนองปลาไหล อ่างฯ คลองสียัด อ่างฯ หนองค้อ อ่างฯ บ้านบึง และอ่างฯ มาบประชัน ได้ความจุเพิ่ม 84 ล้าน ลบ.ม.

การสูบน้ำท้ายอ่างฯ หนองปลาไหลกลับไปเก็บในอ่างฯ ปีละ 5 ล้าน ลบ.ม. และการสูบน้ำท้ายอ่างฯ ประแสร์กลับไปเก็บในอ่างฯ อีกปีละ 10 ล้าน ลบ.ม. การสร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำวังโตนด 4 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ คลองพะวาใหญ่ อ่างฯ คลองหางแมว อ่างฯ คลองวังโตนด โดยมีอ่างฯ คลองประแกดกำลังสร้างใกล้เสร็จแล้ว และเชื่อมโยงแหล่งน้ำจากวังโตนด ทำให้ได้ปริมาณน้ำเข้ามาในระบบ 100 ล้าน ลบ.ม.
กำลังโหลดความคิดเห็น