ตำบลท่างิ้ว อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นทั้งที่ราบ และภูเขา โดยพื้นที่ราบจะอยู่กระจัดกระจายไปทั่ว ส่วนใหญ่ใช้ทำสวนยางพารา และทำนา ส่วนพื้นที่ภูเขา จะตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของตำบล ตามแนวเทือกเขาบรรทัด เขตรอยต่อกับจังหวัดพัทลุง ประกอบกับสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ จึงทำให้พื้นที่แห่งนี้มีแหล่งน้ำเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วย คลองท่างิ้ว คลองไสมะม่วง คลองมวน คลองโก และห้วยไม้ไผ่ รวมทั้งห้วย หนอง บึง อีกหลายสาย จนเป็นที่มาของการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝายน้ำล้น สระน้ำ และทำนบจำนวนมาก
โดยเฉพาะ “อ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว” ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลท่างิ้ว ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติอันสวยงามที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดตรัง แถมยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง การรองรับน้ำฝนที่ตกลงอย่างมากในช่วงหน้าฝน การผลิตน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะกิจกรรมเพื่อการนันทนาการ และการท่องเที่ยว
โดยความเป็นมาสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2532 ชาวตำบลท่างิ้ว ตำบลหนองช้างแล่น และตำบลห้วยนาง อำเภอห้วยยอด ได้มีหนังสือขอพระราชทานสร้างอ่างเก็บน้ำและระบบส่งน้ำ ซึ่งต่อมา สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือขอให้กรมชลประทานพิจารณาเพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณารับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนเป็นที่มาของก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 330 เมตร สูง 40 เมตร ในช่วงระหว่างปี 2537-2543 รวมเวลา 7 ปี ด้วยงบประมาณ 240 ล้านบาท
“อ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว” ใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ จากต้นน้ำที่บริเวณหุบเขาควนหินแก้ว เหนือน้ำตกหลาด่าน แล้วส่งน้ำทั้งโดยระบบท่อ ความยาว 13.10 กิโลเมตร และลงสู่ตามลำน้ำธรรมชาติ ความยาว 27 กิโลเมตร ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง การผลิตประปา การเกษตรกรรม และการปศุสัตว์ ส่วนที่บริเวณท่าเรือก็ได้ให้ชาวบ้านเลี้ยงปลาน้ำจืด เช่น ปลานิล ปลาทับทิม ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 100 กระชัง ช่วยสร้างรายได้เสริมให้แก่ชาวบ้าน นอกเหนือไปจากทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว
เนื่องจาก “อ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว” มีขนาดกว้างใหญ่มาก และสามารถจุน้ำได้ถึง 20.40 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ด้วยการนั่งเรือไปชมต้นกำเนิดของสายน้ำ ที่ตั้งอยู่ห่างจากฝั่งออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร บริเวณหุบเขาควนหินแก้ว เหนือน้ำตกหลาด่าน หรือนั่งเรือเที่ยวชม และถ่ายภาพบริเวณโดยรอบเป็นที่ระลึก นอกจากนั้น ยังสามารถขับรถวนไปมาตามถนนบนสันอ่าง เพื่อสัมผัสสภาพความเป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะผืนน้ำสีเขียวมรกต ที่มีภูเขาสูงตระหง่านเป็นฉากหลัง
ล่าสุด นายธรรมศทรรศ กี่สุ้น นายกเทศมนตรีตำบลท่างิ้ว จึงพร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ขึ้นไปสำรวจแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกแห่งใหม่ล่าสุดบริเวณต้นน้ำบนเทือกเขาบรรทัด ด้วยการนั่งเรือข้ามฟากจากอ่างเก็บน้ำท่างิ้ว ซึ่งโอบล้อมด้วยทิวเขา และป่าเขียวขจี เพื่อเดินทางไปยังน้ำตกบ่อเจ็ดลูก ซึ่งนับเป็นความแปลกอย่างยิ่ง เพราะนักท่องเที่ยวจะได้ชมทัศนียภาพที่สวยงาม เช่น สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน รวมทั้งต้นไม้น้อยใหญ่ และวิถีชีวิตชาวบ้านริมน้ำ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15 นาที ก็จะถึงบริเวณท่าเรือ
จากนั้นนักท่องเที่ยวจะต้องเดินเท้า เพื่อปีนป่ายตามโขดหิน รวมทั้งสะพานต้นไม้ เข้าไปชมความงดงามของน้ำตกบ่อเจ็ดลูก ที่มีความสูง 5 ชั้น และมีระยะทางประมาณ 500 เมตร ก็จะสามารถขึ้นไปจนถึงยอดน้ำตกสูงสุด ซึ่งเป็นต้นน้ำที่ไหลบ่าลงมาสู่อ่างเก็บน้ำท่างิ้ว พร้อมกับการชมบ่อน้ำกลางน้ำตก จำนวน 7 ลูกเหมือนดั่งชื่อ ที่มีความกว้างตั้งแต่ 50-200 ซม.และมีความลึกตั้งแต่ 1-5 เมตร นอกจากนั้น ยังได้มีการสร้างรูปปั้นพญานาคไว้ให้นักท่องเที่ยวได้บูชา โดยเปรียบเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยดูแลน้ำตกแห่งนี้มายาวนานนับพันปีแล้ว
ทั้งนี้ เทศบาลตำบลท่างิ้ว ได้ร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า กรมชลประทาน และชุมชน ทำการพัฒนาน้ำตกบ่อเจ็ดลูก เช่น ก่อสร้างศาลาที่พัก ห้องน้ำ จัดทำเส้นทางเดินป่า เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความสะดวก และความปลอดภัย โดยชูจุดขายใน 2 อารมณ์ ทั้งการล่องเรือชมทัศนียภาพอ่างเก็บน้ำ และการปีนป่ายชมป่าไม้น้อยใหญ่ที่ขึ้นปกคลุมอย่างร่มรื่น พร้อมกับการเล่นน้ำตกที่ยังคงความสวยงามตามธรรมชาติ รอคอยให้เข้าไปพักผ่อนหย่อนใจ เนื่องจากจะหาแหล่งท่องเที่ยวลักษณะเช่นนี้ได้ยากมากในเมืองไทย
สำหรับผู้ที่ต้องการ “ล่องอ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว” และ “ปีนน้ำตกบ่อเจ็ดลูก” แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่เทศบาลตำบลท่างิ้ว โทร.0-7528-4930
เมธี เมืองแก้ว/รายงาน