กาญจนบุรี - นักธุรกิจท้อใจ เตรียมรื้อเรือสำราญหรูมูลค่ากว่า 100 ล้านทิ้ง หลังโดน ชุด ศปก.พป.ลุยยึด เหตุจอดรุกที่ อช.เขื่อนศรีนครินทร์ ด้าน หน.ชุดพญาเสือ ส่งสัญญาณเตือนนักธุรกิจทั้งเล็ก-ใหญ่ ให้ศึกษาก่อนลงทุนในเขต อช. อาจโดนทั้งยึด และถูกดำเนินคดี strong>
วันนี้ (3 ม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) นำโดย นายยรรยง เลขาวิจิตร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (หน.ชุดพญาเสือ) นายธรรมรัฐวงศ์โสภา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ (อช.) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) นายฐิติ โสมภีร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และนายชาติชาย ศรีแผ้ว หัวหน้าสำนักงานสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามที่ 1 ภาคกลาง
พ.ต.ท.รัชพล กิตติคุณชนก สารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี และชุดปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร.ต.ท.สุวัฒน์ ห้วยหงษ์ทอง รองสารวัตรกองกำกับการ 5 กองบังคับการ ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่ชุดพยัคฆ์ไพร (กรมป่าไม้) เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษฉลามขาว (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนธิกำลังกว่า 100 นาย
โดยเจ้าหน้าที่ทั้งหมดเข้าปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า และผืนป่าอนุรักษ์ในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ บริเวณริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ พื้นที่หมู่ 3 ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี โดยได้ตรวจยึดเรือสำราญขนาดใหญ่ ของ นายธนาธิป กาญจนศักดิ์ เอาไว้ จำนวน 2 ลำ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา
โดย นายยรรยง เลขาวิจิตร เปิดเผยว่า ตามแผนการดำเนินงานตรวจสอบแพที่พัก และรีสอร์ตในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่อุทยานแห่งชาติไทรโยค อุทยานแห่งชาติเขาแหลม และครั้งนี้มาดำเนินการในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ที่ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1-2 มิ.ย.โดยเมื่อวานนี้เราได้ดำเนินการตรวจสอบแพที่กำลังต่อเติมที่ทำด้วยไม้สัก
โดยเจ้าของแพเป็นชาวจังหวัดนครปฐม ซึ่งเราได้ดำเนินการตรวจยึดเอาไว้พร้อมทั้งไม้สักจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ เรายังสามารถตรวจยึดที่ดิน จำนวน 9 ไร่ เนื่องจากที่ดินแปลงดังกล่าวนั้นมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกัน และได้ทำบันทึกส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรศรีสวัสดิ์ เพื่อดำเนินการทางด้านกฎหมายไปแล้ว
โดยได้มีการตรวจสอบเรือบรรทุกผู้โดยสารลักษณะเป็นเรือสำราญขนาดใหญ่ ที่มีน้ำหนักประมาณ 1,500 ตันกรอส ยาว 62 เมตร กว้าง 18 เมตร สูงจากผิวน้ำประมาณ 12 เมตร ชื่อเรือศิขรินทร์ โดยมี นายธนาธิป กาญจนศักดิ์ รับว่าเป็นเจ้าของ ส่วนอีก 1 ลำ คือ เรือวรินทิรา
จากการตรวจสอบพบว่า เรือทั้ง 2 ลำ เข้ามาจอดในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปีแล้ว เท่ากับว่าเข้ามายึดถือครอบครองพื้นที่อุทยานฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงถือว่าผู้กระทำนั้นมีความผิดที่แน่นอนแล้ว
นอกจากนี้ ยังพบไม้แปรรูปอยู่อีกเป็นจำนวนมาก โดยส่วนหนึ่งนั้นเป็นไม้สัก แต่ทางนายธนาธิป ได้นำเอกสารการได้มาเป็นเอกสารการเบิกทาง และเอกสารการแปรรูปจากโรงงานในพื้นที่อำเภอไทรโยค มาแสดงต่อคณะเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบอยู่ว่าจำนวนไม้สักแปรรูปตรงตามเอกสารที่นำมาแสดงหรือไม่
โดยหากตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วพบว่า จำนวนของไม้สักแปรรูปเกินกว่าจำนวนที่มีอยู่ในเอกสารเราก็จะดำเนินคดีต่อผู้ครอบครองไม้สักแปรรูปในส่วนที่เกิน ส่วนไม้แปรรูปกะยาเลย เป็นไม้ประดูกั บไม้พวง จำนวน 0.3 ลูกบาศก์เมตร ตรงนี้ นายธนาธิป ไม่มีหลักฐานการได้มานำมาแสดงจึงกระทำความผิดฐานว่าด้วยการป่าไม้ ที่ครอบครองไม้แปรรูปเกิน 0.2 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย
นอกจากนั้น คณะเจ้าหน้าที่พบเครื่องจักรที่ใช้สำหรับการแปรรูปที่มีไว้สำหรับการตกแต่งภายในเรือ และจากการสอบถาม นายธนาธิป ก็รับว่า ไม่ได้ขออนุญาตในการแปรรูปไม้ชั่วคราว หรือว่าไม่ได้ขออนุญาตจากคณะเจ้าหน้าที่จึงถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ด้วยเช่นกัน โดยเราได้แจ้งให้เจ้าของเรือทราบแล้วว่า จะถูกดำเนินคดีในข้อหาใดบ้าง
สำหรับเรื่องคดีนั้นคณะเจ้าหน้าที่ได้พิจารณาร่วมกันแล้วคาดว่า ผู้ถูกดำเนินคดีนั้นคงจะไม่หลบหนีไปไหนจึงพิจารณาว่าจะไม่คัดค้านการประกันตัว
ส่วน นายชัยวัฒน์ ลิมลิขิตอักษร กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการตรวจยึดเรือสำราญทั้ง 2 ลำในครั้งนี้ หลังจากนี้คณะเจ้าหน้าที่จะใช้มาตรา 21 เพื่อให้ผู้ประกอบการหยุดดำเนินการ และให้ออกจากเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จากการพูดคุยกับผู้ประกอบแล้วเราเองก็เห็นใจเพราะได้นำเงินมาลงทุกไปแล้วมากกว่า 100 ล้านบาท
โดย นายธนาธิป แจ้งต่อเราว่า คงจะต้องหยุดดำเนินการ และพร้อมที่จะตัดชิ้นส่วนของเรือขายทิ้งทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม ถือว่านี่เป็นการส่งสัญญาณเตือนไปถึงนักธุรกิจทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ที่เข้าไปประกอบการอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทุกแห่งทั่วประเทศ ขอให้ผู้ประกอบการที่คิดจะดำเนินการประกอบธุรกิจให้ไปหาทนายเพื่อศึกษาข้อมูลก่อนว่าสามารถกระทำได้หรือไม่ที่จะดำเนินธุรกิจในเขตอุทยานแห่งชาติ
เพราะเมื่อผู้ประกอบการดำเนินกิจการธุรกิจที่ใช้งบประมาณที่สูงอาจจะทำให้การลงทุนนั้นสูญเปล่า อีกทั้งจะต้องถูกดำเนินคดีในส่วนของ พ.ร.บ.ป่าไม้ รวมทั้ง พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ และ พ.ร.บ.กรมอุทยานแห่งชาติด้วย
ด้าน นายธนาธิป กาญจนศักดิ์ กล่าวเปิดใจว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกอะไรได้ เพราะยังไม่รู้ว่าธุรกิจตรงนี้จะสามารถเดินหน้าไปได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องรอให้ปัญหาตรงนี้จบไปก่อน เมื่อปัญหามันจบไปแล้วค่อยมาคิดดูใหม่ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะดำเนินธุรกิจที่บริเวณแห่งนี้แต่จากระเบียบของกรมอุทยานฯ แล้วคิดว่าคงจะเป็นไปได้ยากที่จะลงทุนดำเนินธุรกิจต่อไป จะทำได้อย่างมากก็เพียงแค่รื้อทิ้งทั้งหมด จะง่ายที่สุด