xs
xsm
sm
md
lg

รองอธิบดีกรมชลฯ ตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำประแกด จันทบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จันทบุรี - รองอธิบดีกรมชลประทาน นำคณะสื่อมวลชนติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำประแกด จังหวัดจันทบุรี หวังพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนด เต็มศักยภาพตามแผนหลัก มั่นใจทำให้จันทบุรีมีน้ำใช้สำหรับสวนผลไม้ อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และยังเหลือน้ำส่วนเกินผันช่วยเสริมความมั่นคงด้านน้ำของภาคตะวันออก

วันนี้ (8 มิ.ย.) ที่โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำประแกด จังหวัดจันทบุรี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการกรมชลประทาน ได้เป็นประธานนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำประแกต ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำคลองวังโตนด ที่มีศักยภาพ เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ และเพิ่มพื้นที่ชลประทานตอนบน และตอนกลางของพื้นที่ลุ่มน้ำ ตลอดจนการบรรเทาปัญหาอุทกภัย และปัญหาคุณภาพน้ำในพื้นที่ตอนล่าง ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

ตามที่มติคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบต่อแผนงาน โครงการ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 โดยโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำประแกต ทางกรมชลประทาน หวังที่จะพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนด ให้เต็มศักยภาพตามแผนหลัก สร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่าจะสามารถทำให้จังหวัดจันทบุรี มีน้ำใช้สำหรับสวนผลไม้ อุปโภคบริโภค และภาคอุตสาหกรรม ทั้งยังเหลือน้ำส่วนเกินผันออกไปช่วยเสริมความมั่นคงด้านน้ำของภาคตะวันออกด้วย

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตอนนี้โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำประแกต มีความคืบหน้าของโครงการไปแล้ว 80% เหลือการถมที่ให้เป็นสันเขื่อน และรอรองรับน้ำฝนที่จะตกลงมาในอ่างเก็บน้ำ แต่ในส่วนของกรมชลประทานได้วางแผนในการพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ สนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดชายฝั่งทะเลตะวันออก คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี

คาดว่าภายในปี 2580 หรืออีก 20 ปี จะมีความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมเพิ่มสูงถึง 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทั้งนี้ เนื่องจากมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจำเป็นจะต้องวางแผนจัดหาน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการในทุกภาคส่วน

สำหรับแผนการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุน EEC นั้น ในระยะ 5 ปีแรก จะเป็นการจัดหาน้ำจากแหล่งภายในประเทศ โดยจะทำการเพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ 6 แห่ง เพื่อให้งานให้เต็มศักยภาพ คือ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำบ้านบึง และอ่างเก็บน้ำมาบประชัน ซึ่งจะสามารถกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นรวมกันได้อีก 84 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,190 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งใหม่ในพื้นที่ลุ่มน้ำวังโตนด 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองพวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว อ่างเก็บน้ำประแกต และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด มีความจุรวมกัน 308.5 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยอ่างเก็บน้ำคลองประแกต ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองพวาใหญ่ และอ่างเก็บน้ำคลองหางแมวจะเริ่มก่อสร้างปี 2561 ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด กำลังดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล่อม หรือ EHIA คาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ในปี 2563

พร้อมทั้งจะมีการสร้างท่อผันน้ำจากคลองวังโตนด ไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง โดยจะผันน้ำส่วนเกินในฤดูฝนมาไว้ที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรม 60 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และสามารถเพิ่มเป็น 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีได้ในอนาคต คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 2,493 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมอ่างเก็บน้ำคลองประแกต ที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง


กำลังโหลดความคิดเห็น