xs
xsm
sm
md
lg

“กนอ.” เร่งบริหารน้ำรับลงทุนอุตสาหกรรมในอีอีซี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กนอ.จับมือกรมชลประทานวางแนวทางบริหารจัดการน้ำ รองรับคลื่นลงทุนใน EEC ที่คาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะต้องการน้ำเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเท่าตัวจากขณะนี้เฉลี่ยวันละ 5 แสนลูกบาศก์เมตร ส่วนปีนี้โล่งน้ำสะสมในอ่างมีเพียบ

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กนอ.ได้ร่วมมือกับกรมชลประทานในการวางแนวทางบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่จะมีการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจากปัจจุบันนิคมฯ ในพื้นที่ตะวันออกเฉลี่ยจะใช้อยู่ที่วันละ 5 แสนลูกบาศก์เมตรหรือ ประมาณ 180 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

“ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งขับเคลื่อนอีอีซี โดยตั้งเป้า 5 ปีจะมีการลงทุนเกิดขึ้นในพื้นที่ ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท มีการลงทุนที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งคาดว่าจะใช้พื้นที่ประมาณ 50,000 ไร่ ดังนั้นจำเป็นต้องวางแผนบริหารน้ำเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมให้เพียงพอเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต” นายวีรพงศ์กล่าว

ปัจจุบันในพื้นที่ภาคตะวันออกมีอ่างกักเก็บน้ำจำนวน 3 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำดอกกลาย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ โดยอ่างเก็บน้ำดอกกลายปัจจุบันมีน้ำประมาณ 58 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 73% จากระดับกักเก็บน้ำสูงสุดที่ 79 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลมีปริมาณน้ำประมาณ 134 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 82% จากระดับกักเก็บน้ำสูงสุดที่ 163 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่มีปริมาณน้ำประมาณ 33 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 82% จากความจุสูงสุดประมาณ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร

จากการติดตามข้อมูลปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำจากกรมชลประทานทั้ง 3 อ่างเก็บน้ำหลักมีปริมาณน้ำมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณน้ำรวมประมาณ 79% ของความจุเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามีปริมาณน้ำเพียง 37% ของความจุ ซึ่งจะเห็นว่าในปีนี้สถานการณ์น้ำค่อนข้างดีมาก เนื่องจากในช่วงเดือนพฤษภาคมมีปริมาณฝนตกต่อเนื่อง

นอกจากนั้น กนอ.ดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่นิคมฯ มาบตาพุด ที่สามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะเดียวกัน กนอ.ขอให้ผู้ประกอบการในนิคมฯ นำน้ำที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เป็นการสร้างความมั่นคงในด้านการบริหารจัดการน้ำให้แก่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ
กำลังโหลดความคิดเห็น