xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ให้ผู้ส่งออกรับรองถิ่นกำเนิดด้วยตัวเอง เพื่อขอใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปสวิสและนอร์เวย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” เปิดให้ผู้ส่งออกขึ้นทะเบียนรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง เพื่อขอใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปสวิสและนอร์เวย์ มั่นใจช่วยผลักดันยอดส่งออกเพิ่มขึ้นแน่ เผยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 60 ที่จะถึงนี้

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนเพื่อได้รับสิทธิในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองในการส่งออกไปสมาพันธรัฐสวิส และราชอาณาจักรนอร์เวย์ ซึ่งได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้ผู้ส่งออกสามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของตนเองสำหรับการส่งออกสินค้าไปยังสมาพันธรัฐสวิส และราชอาณาจักรนอร์เวย์ เพื่อขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) แทนการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบเดิมได้ และจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป

“การเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของตนเองจะช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าไทยไปยังสวิสและนอร์เวย์ได้ง่ายขึ้น เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายและเวลาให้แก่ผู้ส่งออก ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดทั้งสองได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และยังจะช่วยผลักดันให้การส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดทั้งสองประเทศขยายตัวได้เพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ ในปัจจุบันไทยส่งออกไปสวิสในช่วง 10 เดือนของปี 2559 มีมูลค่า 158,814 ล้านบาท โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ เป็นต้น และส่งออกไปนอร์เวย์ มีมูลค่า 5,226 ล้านบาท โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น

สำหรับขั้นตอนการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตัวเอง ผู้ส่งออกจะต้องขอขึ้นทะเบียนกับกรมฯ เพื่อขอรับหมายเลขทะเบียนเป็นผู้ส่งออกที่สามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Number of Registered Exporter) โดยยื่นคำขอพร้อมกับใบสมัคร (Pre-application Form) ที่ได้กรอกข้อมูลในเว็บไซต์ http://customs.eu.europe.eu/rex-pa และได้ลงนามถูกต้องสมบูรณ์ และเมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้ส่งออกสามารถรับรองถิ่นกำเนิดของสินค้า โดยระบุข้อความที่กำหนดในเอกสารทางการค้า เช่น ใบกำกับสินค้า (Invoice) ใบเรียกเก็บเงินค่าสินค้า (Billing Statement) ใบสั่งปล่อยสินค้า (Delivery Order) เป็นต้น และต้องเก็บรักษาเอกสารที่เกี่ยวข้องดังกล่าวไว้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี เพื่อใช้ในการตรวจสอบกรณีที่ศุลกากรประเทศดังกล่าวมีความสงสัยถิ่นกำเนิดสินค้าดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น