“พาณิชย์”เผยนักการเมืองและข้าราชการ 6 ราย เอี่ยวทุจริตขายข้าวจีทูจี ยังไม่มีใครยอมชดใช้ค่าเสียหาย 2 หมื่นล้านบาท ส่งหนังสือแจ้งเตือนซ้ำ หากยังนิ่งเฉยแจ้งกรมบังคับคดียึด-อายัดทรัพย์ทันที “บุญทรง”ยันไม่จ่าย พร้อมอุทธรณ์คำสั่ง และฟ้องศาลเอาผิดพาณิชย์และผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย “ปลัดพาณิชย์”ยันไม่รู้ต้องร่วมชะตากรรมชดใช้ค่าเสียหายจำนำเจ๊งหรือไม่ ขณะที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยยอมรับมีผู้ส่งออกโดนหลายกลุ่มแน่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ ได้ส่งหนังสือบังคับทางปกครอง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) รวม 4 สัญญา ปริมาณ 6.2 ล้านตัน มูลค่า 20,000 ล้านบาท ไปยังนักการเมืองและอดีตข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ 6 คน ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด และได้มีการลงนามเรียกค่าเสียหายตั้งแต่ปลายเดือนก.ย.2559 ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีผู้ใดมาชำระค่าเสียหายตามที่ถูกเรียกร้อง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนไปอีกครั้ง เพื่อให้มาชำระภายใน 15 วัน แต่หากยังนิ่งเฉยอีก กระทรวงพาณิชย์จะส่งหนังสือไปยังกรมบังคับคดี เพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป เช่น อายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชดใช้ค่าเสียหาย
สำหรับนักการเมืองและอดีตข้าราชการ 6 ราย ที่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ได้แก่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ต้องชดใช้ค่าเสียหาย 1,770 ล้านบาท, นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ 2,300 ล้านบาท ส่วนพ.ต.ท.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรมว.พาณิชย์ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ ต้องชดใช้ค่าเสียหายคนละ 4,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในเร็วๆ นี้ ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดกรณีการขายข้าวจีทูจีในส่วนเพิ่มเติมอีก 8 สัญญา ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันกับที่ได้ชี้มูลไปแล้วใน 4 สัญญาข้างต้น และอาจจะมีบุคคลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ทั้งข้าราชการและภาคเอกชน
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ตนยังไม่ได้ชำระค่าเสียหายตามที่ถูกเรียกร้อง และได้ดำเนินการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองต่อกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่ได้รับหนังสือคำสั่งดังกล่าว และจนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากกระทรวงพาณิชย์ จนเมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงฯ ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนเป็นครั้งที่ 2 ให้ชำระค่าเสียหาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้ฟ้องร้องกระทรวงพาณิชย์ และผู้เกี่ยวข้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเรียกร้องค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ในส่วน 80% หรือกว่า 140,000 ล้านบาท ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมดกว่า 170,000 ล้านบาท จากผู้เกี่ยวข้องกับโครงการจำนำข้าว กรณีของน.ส.วยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ละเลยไม่ยกเลิกการรับจำนำข้าว และต้องชดใช้ความเสียหาย 20% หรือ 35,717 ล้านบาทนั้น ล่าสุดศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ได้รวบรวมข้อมูลผู้ที่ต้องรับผิดชอบความเสียหายในส่วน 80% เสร็จแล้ว
โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ผู้บริหาร ประกอบด้วย รัฐมนตรี และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายข้าว ประมาณ 2,000 รายชื่อ กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มข้าราชการในกระทรวงที่รับผิดชอบ ประกอบด้วย องค์กรที่ทำหน้าที่ปฏิบัติ ประมาณ 4,000 ราย และกลุ่มที่สาม คือ กลุ่มผู้ประกอบการภาคเอกชน แต่ไม่ได้หมายความว่า ทั้ง 6,000 ราย ต้องมีส่วนชดใช้ค่าเสียหาย แต่ต้องพิจารณากันอีกครั้งว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิด ซึ่งจะพิจารณาตามเหตุผลในแต่ละราย
ด้านน.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) สมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่า ตนจะต้องชดใช้ค่าเสียหายด้วยหรือไม่ เพราะกระทรวงยุติธรรมยังพิจารณาไม่เสร็จ แต่ยืนยันว่า กขช. ทุกคนทำตามนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่าจะมีสมาชิกของสมาคมฯอยู่ในกลุ่มผู้ที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากโครงการจำนำข้าว แต่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมก่อน จึงจะสรุปได้ว่าจะต้องมีการชดใช้ค่าเสียหายจริงหรือไม่อย่างไร แต่โดยส่วนตัว เห็นว่า ในช่วงนั้นเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ที่ข้าวเกือบทั้งหมดไปอยู่ในมือรัฐบาลผ่านโครงการรับจำนำข้าว ทำให้ผู้ที่อยู่ในธุรกิจค้าข้าวต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม เช่น บางบริษัทเข้าไปประมูลเพื่อนำข้าวไปส่งมอบตามคำสั่งซื้อ หรือบางกลุ่มซื้อต่อจากผู้ที่นำข้าวจากรัฐบาลมาขายอีกที ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนผู้เกี่ยวข้องที่เป็นภาคเอกชนจะครอบคลุมถึงกลุ่มใดบ้าง
ทั้งนี้ การส่งออกข้าวในขณะนั้นปรับตัวลดลงเหลือเพียงปีละ 6-7 ล้านตัน จากปริมาณส่งออกข้าวโดยเฉลี่ยของไทยจะอยู่ที่ 8-9 ล้านตัน เนื่องจากราคาข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ตลาดเปลี่ยนไปสั่งซื้อข้าวจากประเทศอื่น และข้าวส่วนใหญ่อยู่ในมือรัฐบาล ทำให้เอกชนบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงการต่อรองซื้อขายข้าวในสต๊อกไม่มีข้าวไปส่งมอบจำเป็นต้องปล่อยให้ลูกค้าไปสั่งซื้อจากแหล่งอื่นแทน ซึ่งเป็นความเสียหายทางการตลาดที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวในช่วงที่ผ่านมา