กระทรวงอุตสาหกรรม ระดมสมอง สอจ.ทั่วประเทศ จัดทำแผน-แนวทางการตรวจติดตามประเมินผล ขับเคลื่อน Industry 4.0 สอดรับนโยบาย Thailand 4.0 พร้อมสั่งจับตา 32 โรงงานเสี่ยงผลกระทบสิ่งแวดล้อม และชุมชน หลังนายกฯ สั่งให้คุมเข้มมากขึ้น
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การตรวจราชการและติดตามประเมินผล เพื่อขับเคลื่อน Industry 4.0” โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 300 คน ว่าเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ Industry 4.0 และสอดรับกับแนวทางการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องปรับบทบาทเพื่อรองรับกับแผนการพัฒนาดังกล่าว โดยเฉพาะสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ซึ่งถือเป็นผู้แทนกระทรวงฯที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย
โดยภารกิจหลักของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การปรับบทบาทการกำกับดูแลสถานประกอบกิจการโรงงานและเหมืองแร่จากผู้กำกับดูแลตามกฎหมาย “Regulator” เป็นผู้ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการประกอบกิจการ “Promoter&Facilitator” โดยเฉพาะโครงสร้างของ สอจ.ทุกจังหวัด ที่ให้มีหน่วยงานพี่เลี้ยงด้านวิชาการต่างๆ ในพื้นที่บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง รวมถึงปรับบทบาทภารกิจเพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบาย Industry 4.0 ภายใต้โมเดล Thailand 4.0 ของรัฐบาล ทั้งด้านการกำกับดูแลโรงงานและเหมืองแร่ ด้วยการปรับกฎหมาย กฎ ระเบียบ ให้เอื้อต่อการลงทุน/การประกอบกิจการ การให้ Third Party มาช่วยปฏิบัติงานเป็นต้น นอกจากนี้ ในส่วนของการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรม SMEs และ OTOP : Promoter สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรมทุกระดับ
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เรียกผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมหารือถึงนโยบายรัฐบาล โดยนางอรรชการะบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลการประกอบกิจการโรงงานทั่วประเทศไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจุบันยังมีการร้องเรียนโรงงานอยู่
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบจำนวนโรงงานทั่วประเทศพบว่า มีโรงงานที่ต้องจับตาเพราะเป็นกิจการที่เสี่ยงถูกร้องเรียน และบางส่วนมีประวัติอยู่ระหว่างตรวจสอบอยู่แล้ว รวมจำนวน 32 โรงงาน แบ่งเป็นโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 โรงงาน และโรงงานกระจายในต่างจังหวัด 27 แห่ง ดังนั้น กระทรวงฯ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และอุตสาหกรรมจังหวัด จะเข้าไปดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบตามนโยบายนายกรัฐมนตรี