xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันอาหารจัดทำแผน 20 ปี ดันครัวไทยติด 1 ใน 5 ของโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางอรรชกา สีบุญเรือง รมต (2ซ้าย).นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดก.อุต (2ขวา) และนายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผอ.สถาบันอาหาร (4ขวา) ร่วมแถลงข่าว
รมว.อุตฯ เผยแนวทางทำหนุนอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2560-2579) ของสถาบันอาหาร มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถให้นักรบรุ่นใหม่ ส่งเสริมพื้นที่นวัตกรรม พัฒนาเครือข่าย พร้อมตั้งเป้าภายใน 20 ปี อุตสาหกรรมอาหารไทย ติด 1 ใน 5 ของอาหารโลก ด้าน ผอ.สถาบันอาหาร แจง ปี 2560 ได้รับงบ 700 ล้านบาท ลดลงจากปี 2559 ได้ 800 ล้านบาท ส่วนแผน นำเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดแนวทางตามแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ รองรับการก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ไว้ 4 แนวทาง ดังนี้ 1) สร้างเสริมอุตสาหกรรมอาหารในทุกด้าน 2) เพิ่มขีดความสามารถเพื่อรองรับการแข่งขัน โดยเฉพาะในกลุ่มนักรบพันธุ์ใหม่ (New Warriors of Thai Food Industry) โดยการปรับเปลี่ยนทิศทางโดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์อาหารอนาคตที่มีมาตรฐานระดับสากล 3) เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยเป็นครัวของโลก โดยการส่งเสริมการลงทุนในภาคเอกชน เช่น พัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรมอาหารอนาคต การส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ด้านนวัตกรรม ส่งเสริมการพัฒนาเครือข่าย ตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ 4) สร้างอุตสาหกรรมอาหารให้มีเสถียรภาพ มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับนานาชาติ สร้างมูลค่าเพิ่มจากภาพลักษณ์ประเทศไทย ให้เป็นจิ๊กซอร์ของห่วงโซ่อุปทานอาหารของโลก โดยการนำเสนอผ่านเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงต่างประเทศ

ด้านนายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ในการจัดทำแผนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ ได้กำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มสาขาอุตสาหกรรมดั้งเดิม กลุ่มสาขาอุตสาหกรรมอนาคต และกลุ่มอุตสาหกรรมบริการต่อเนื่อง โดยกลุ่มสาขาอุตสาหกรรมดั้งเดิม เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ประเทศไทยต้องพยายามรักษาฐานการผลิตไว้ เพื่อให้เกิดการจ้างงานและการลงทุนอย่างมีเสถียรภาพ ได้แก่ สาขาอาหารแปรรูปจากวัตถุดิบการเกษตรหลัก (เช่น ผัก ผลไม้ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย หมู โค กุ้ง ไก่ ปาล์มน้ำมัน) กลุ่มสาขาอุตสาหกรรมอนาคต ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่มีแนวโน้มที่ดี ได้แก่ สาขาอาหารสุขภาพ อาหารอนาคตในวิถีชีวิตทุกช่วงวัย หรือกลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (เช่น Functional Food, Medical Food, Wellness Food, Supplement Halal Food) และกลุ่มอุตสาหกรรมบริการต่อเนื่อง จะเป็นช่องทางการสร้างตลาดอุตสาหกรรมอาหารไทยในตลาดโลก ได้แก่ วิสาหกิจชุมชน อาหารริมทาง โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และธุรกิจจัดประชุมและนิทรรศการ (MICE)
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
โดยเป้าหมายตามแผนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2560-2579) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นั้น ได้กำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยไว้ดังนี้ 1. ผลิตภาพการผลิตโดยรวม ของอุตสาหกรรมอาหารขยายตัวไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 ต่อปี ด้วยการใช้ Internet of Things เทคโนโลยีและนวัตกรรม 2. อัตราการขยายตัวการส่งออกของของอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 หรือไม่น้อยกว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกรวมของประเทศ และผลักดันให้ประเทศไทยขึ้นเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารติด 1 ใน 5 ของอาหารโลก (TOP 5) ภายในระยะเวลา 20 ปี และตั้งเป้าไว้ว่าจะติด 1 ใน 10 ภายในระยะเวลา 10 ปี จากปัจจุบัน การส่งออกสินค้าอาหารของไทยอยู่อันดับที่ 14 มีมูลค่าการส่งออก 9 แสน 5 หมื่นล้านบาท

และเป้าหมายที่ 3 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของของอุตสาหกรรมอาหารมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีการขยายตัวร้อยละ 4-5 ต่อปี โดยมีการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากผู้ประกอบการอาหารที่มีการปรับเปลี่ยนเพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่อง (Continuous Growth) และผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) รวมแล้วไม่น้อยกว่า 35,000 ราย ภายในระยะเวลา 20 ปี

ด้านนายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวต่อว่า ในส่วนของสถาบันอาหารแผนดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของชาติ 20 ปีในครั้งนี้ ทางสถาบันอาหารได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ ไว้ 3 ข้อ 1. การสร้างคุณภาพและความปลอดภัยอุตสาหกรรมอาหารไทย 2. การเพิ่มขีดความสามารถนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมอาหาร และ 3. การพัฒนาระบบสนับสนุนการปรับตัวของวิสาหกิจอุตสาหกรรมอาหารไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 และอนาคต

ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร 4.0 นั้น ทางสถาบันอาหารได้มุ่งเป้าไปที่ประชารัฐ การยกระดับ Food Existing S-Curve มุ่งหมายการผลักดันให้เกิดผลสำเร็จเป็นพิเศษ ได้แก่ การพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่ม S-Curve และการสร้างผู้ประกอบการใหม่ (New Warriors) การจัดระบบการพัฒนาปัจจัยเอื้อต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยเป็นครัวของโลก (World Food Valley) และการพัฒนาตลาดอุตสาหกรรมอาหารอนาคตและช่องทางการค้า (World Connect)

โดยในปีงบประมาณ 2560 นี้ ทางสถาบันอาหารได้รับงบประมาณ เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการจำนวน 700 ล้านบาท ลดลงจากปี 2559 ที่ได้รับงบประมาณจำนวน 800 ล้านบาท ส่วนแผนยุทธศาสตร์ ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2560-2579) ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการพิจารณาหาข้อสรุป และจะมีการนำเสนอเพื่อให้ คณะรัฐมนตรี รับทราบในโอกาสต่อไป

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น