“กรมศุลกากร” ยันผลตรวจสอบผู้นำเข้ารถเมล์ NGV แสดงเอกสารเท็จ แจงล็อตแรก 100 คัน สำแดงเท็จ โดนปรับเพิ่ม 230 ล้านบาท ขณะที่ล็อตต่อมายังไม่ยื่นเอกสาร ให้จ่ายภาษีนำเข้าปกติ โดยรถทั้ง 489 คันผู้นำเข้าต้องจ่ายภาษี 948 ล้านบาท ระบุจ่ายเงินพร้อมตรวจปล่อยรถใน 1-2 วัน ด้านผู้นำเข้า ยอมรับเข้าใจข้อมูลผิดพลาด ส่วน “ออมสิน” ระบุเหตุประมูลตัดราคาต่ำเกินไปจนต้องพยายามลดต้นทุนทางภาษี
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ได้แถลงชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกรณีการนำเข้ารถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) ว่า ตามที่กรมศุลกากรได้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับการนำเข้ารถโดยสาร NGV ซึ่งนำเข้าโดยบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ไปเมื่อวันอังคารที่ 6 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมานั้น ต่อมาได้ส่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรไปประสานงานตรวจสอบข้อมูลที่ประเทศมาเลเซีย และได้ผลสรุปข้อเท็จจริง ดังนี้
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด นำเข้ารถโดยสารปรับอากาศยี่ห้อ SUNLONG รุ่น SLK6129CNG YEAR 2016 จำนวน 489 คัน ซึ่งได้ทยอยส่งออกจากประเทศมาเลเซีย มายังประเทศไทย จำนวน 5 เที่ยวเรือ เที่ยวละ 1 คัน, 99 คัน, 145 คัน, 146 คัน และ 98 คัน (อยู่ระหว่างการเดินทางจากมาเลเซียมายังประเทศไทย) ตามลำดับ รวมทั้งสิ้น 489 คัน โดยสามารถแบ่งการดำเนินการของบริษัทฯ เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 (เที่ยวที่ 1-2 รวมจำนวน 100 คัน) เป็นกลุ่มที่ผ่านพิธีการศุลกากรและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และกลุ่มที่ 2 (เที่ยวที่ 3-5 จำนวน 389 คัน) ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร
โดยได้ตรวจสอบพบว่า ก่อนหน้าที่ R & A COMMERCIAL VEHICLES SDN BHD จะส่งรถโดยสารปรับอากาศดังกล่าวมายังประเทศไทย ได้มีการนำเข้ารถโดยสารปรับอากาศชนิดเดียวกันจากประเทศจีน โดย NORINCO NEW ENERGY CO., LTD. ระบุชื่อผู้ซื้อที่มาเลเซีย คือ R & A COMMERCIAL VEHICLES SDN BHD และพบสินค้านำเข้าเป็นรถยนต์สำเร็จรูป ซึ่งมีจำนวน ราคา และน้ำหนักตรงกันกับที่บริษัท R & A COMMERCIAL VEHICLES SDN BHD ส่งมายังประเทศไทย มีรายการหมายเลข Chassis หมายเลขเครื่องยนต์ ตรงกัน รวมทั้งแสดงราคาต่อหน่วยและน้ำหนักต่อหน่วย เท่ากัน กรณีกลุ่มที่ 1 จึงเป็นการสำแดงแหล่งกำเนิดเป็นเท็จอันเป็นความผิดตามกฎหมายศุลกากรตามมาตรา 99, 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469
ส่วนกรณีกลุ่มที่ 2 ยังไม่ถือว่าเป็นความผิด เนื่องจากผู้นำเข้ายังไม่ได้ยื่นเอกสารการนำเข้าต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งกรมศุลกากรได้ชี้แจงให้กับบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด รับทราบ และบริษัทฯ ยอมรับว่ามีความเข้าใจที่ผิดพลาดในข้อมูลการนำเข้าจากบริษัทผู้จำหน่ายในมาเลเซีย จึงแถลงข่าวในครั้งแรกตามข้อมูลที่ได้รับ เมื่อรับทราบข้อเท็จจริงแล้ว บริษัทยินดีปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของกรมศุลกากรทุกประการ
ดังนั้น รถทั้ง 489 คันจะต้องเสียภาษีนำเข้าจำนวน 718 ล้านบาท และในส่วนของ 100 คันแรกจะต้องเสียค่าปรับอีกประมาณ 230 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่ผู้นำเข้าต้องชำระ 948 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากบริษัทมีความประสงค์ที่จะชำระค่าภาษีหรือวางเงินประกัน และมีเอกสารพร้อม สามารถดำเนินการที่กรมศุลกากร หรือ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะทำการตรวจปล่อยได้ภายใน 1-2 วันเท่านั้น
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในการประมูล จัดซื้อรถเมล์ NGV พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษาจำนวน จำนวน 489 คัน ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-อ็อกชัน) นั้น ขสมก.กำหนดราคากลางที่ 4,021.71 ล้านบาท ปรากฏว่า บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 3,389.71 ล้านบาท โดยเสนอต่ำกว่าราคากลางถึง 632 ล้านบาท ถือเป็นการตัดราคาลงมาค่อนข้างมาก ซึ่งมองได้ว่า เบสท์ริน กรุ๊ป อาจจะคิดว่าไม่มีต้นทุนเรื่องภาษีนำเข้า
ทั้งนี้ ตามสัญญาที่ เบสท์ริน กรุ๊ป ทำกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นั้น เบสท์ริน กรุ๊ป มีหน้าที่ส่งมอบรถให้ ขสมก.ตามสัญญาภายในวันที่ 29 ธ.ค. 2559 ส่วนปัญหาทางศุลกากร หรือการวางเงินค่าดำเนินการต่างๆ ขสมก.ไม่เกี่ยว เป็นหน้าที่ของ เบสท์ริน กรุ๊ป ที่ต้องดำเนินการให้เรียบร้อยหากพันกำหนดวันที่ 29 ธ.ค.ไม่สามารถส่งมอบรถได้จะต้องถูกปรับรวมกว่า13,000 บาท/คัน/วัน โดยเป็นค่าเสียโอกาส 10,000 บาท/คัน/วัน และค่าเสียหาย อีก 0.02% ของมูลค่าสัญญา โดยหากที่สุดกรมศุลกากรปล่อยรถเมล์ NGV ออกมา เท่ากับรถดังกล่าวได้ดำเนินการถูกต้องแล้ว
โดยขณะนี้คาดว่ารถที่เอกสารอาจผิดพลาดนั้นคือ 100 คันแรกต้องจ่ายภาษีให้ถูกต้อง ส่วนที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการแสดงเอกสาร อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 21 ธ.ค.ซึ่งเดิมกำหนดจะนำรถเมล์ NGV มาโชว์และให้นายกรัฐมนตรีอาจจะต้องยกเลิกไปก่อน ซึ่งในวันที่ 21 ธ.ค. นายกฯ มีกำหนดที่จะไปตรวจรถไฟ ชั้น 3 ที่มีการปรับปรุงใหม่