“คมนาคม-ทช.” ถก กทม.-บีทีเอสได้ข้อสรุปแบบปรับปรุงสถานีสะพานตากสิน (S6) โดยไม่มีการทุบสะพานตากสิน หลักการและเทคนิครับได้ เร่งออกแบบรายละเอียดใน ธ.ค.นี้ เผย กทม.เสนอยกลอยทางวิ่งรถไฟฟ้าเหนือสะพานตากสินด้านในฝั่งละ 1 เลนยาว 250 เมตร และขยายสะพานด้านแม่น้ำแทนฝั่งละ 1 เลนโดยไม่ยุ่งกับโครงสร้างสะพานตากสิน ขณะที่ย้ำจราจรบนสะพานต้องมี 3 เลนตลอดเวลา
นายชายชาติ ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดให้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) หารือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อสรุปรูปแบบการปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสะพานตากสิน (S6) ซึ่งหลักการจะไม่มีการทุบสะพานตากสิน และไม่มีการฝากโครงสร้างใดๆ ให้กระทบต่อตัวสะพานเดิม และให้มีผลกระทบต่อการจราจรน้อยที่สุด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือในรายละเอียดของการออกแบบ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันมา 2 ครั้งแล้ว ซึ่ง กทม. และบีทีเอสได้นำเสนอรูปแบบการปรับปรุงสถานีสะพานตากสิน (S6) เพื่อทำเป็นรถไฟทางคู่ ได้ข้อสรุปร่วมกันเบื้องต้นแล้ว โดยในการวางรางรถไฟเพิ่มจะต้องขยายชานชาลาเพิ่มออกมาด้วย ซึ่งจะเกินเข้าไปในพื้นที่สะพานตากสิน 1 ช่องจราจร เป็นระยะทางยาวประมาณ 250 เมตร ซึ่งโครงสร้างของรถไฟฟ้าจะลอยอยู่เหนือสะพานตากสินโดยไม่มีการทุบสะพานตากสินแต่อย่างใด ทั้งนี้ การออกแบบดังกล่าวจะทำให้ช่องจราจรด้านในของสะพานตากสินทั้งสองฝั่ง ฝั่งละ 1 ช่องจราจร ไม่สามารถใช้ได้เป็นระยะทาง 250 เมตร ดังนั้น จะมีการขยายสะพานฝั่งด้านแม่น้ำออกไป 1 ช่องจราจรเพื่อทดแทนช่องจราจรที่ใช้ไม่ได้ ทำให้สะพานตากสินยังมี 3 ช่องจราจรเท่าเดิม
โดยจากการประชุมล่าสุดเมื่อปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ได้หารือถึงรายละเอียด ความเป็นไปได้ทางวิศวกรรม ซึ่งทาง กทม. และบีทีเอสจะต้องออกแบบรายละเอียด เช่น โครงสร้างรับรางรถไฟนั้นบีทีเอสจะออกแบบเชื่อมจากโครงสร้างรถไฟฟ้าปัจจุบัน ส่วนเสาเข็มใหม่ที่จะรองรับการขยายสะพานตากสิน 1 ช่องจราจรนั้น ตอม่อจะอยู่ใกล้กับตอม่อสะพานเดิม บริเวณสวนสาธารณะตรงเชิงลาดของสะพาน โดยออกแบบให้ลาดเอียงออกมารับพื้นสะพาน 1 ช่องจราจรที่จะขยายออกด้านข้างเพื่อไม่ให้กระทบพื้นที่ด้านล่าง
“ขณะนี้หลักการเห็นตรงกันและยอมรับได้ คือไม่มีการทุบสะพานตากสิน หรือกระทบต่อโครงสร้างเดิม โดย กทม. และบีทีเอสจะเป็นผู้ลงทุนในการปรับปรุงโครงสร้างทั้งหมด และที่สำคัญ สะพานตากสินจะต้องมี 3 ช่องจราจรตลอดเวลา ดังนั้น กทม.และบีทีเอสจะต้องขยาย 1 ช่องจราจรของสะพานตากสินด้านข้างให้เสร็จก่อน จึงจะปิดเลนในของสะพานเพื่อก่อสร้าง และขยายรางรถไฟฟ้าได้” อธิบดี ทช.กล่าว
อย่างไรก็ตาม ได้นัดหารือกับ กทม.และบีทีเอสอีกครั้งภายในเดือน ธ.ค.นี้ หากได้ข้อสรุปเรื่องรายละเอียดของแบบแล้วจะมีการนำเสนอต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งคาดว่าจะมีรูปแบบ และภาพร่างที่จะนำเสนอให้เข้าใจมากขึ้น