xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ทำยุทธศาสตร์มันสำปะหลัง 20 ปี เดินหน้าเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ต่อยอดไปสู่สินค้ามีมูลค่าเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” ทำแผนยุทธศาสตร์มันสำปะหลัง 20 ปี เดินหน้าสร้างมูลค่าเพิ่มให้มันสำปะหลังทั้งระบบ ตั้งแต่เพิ่มผลผลิตต่อไร่ จนถึงพัฒนาไปเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 คาด 2 สัปดาห์สรุปผลก่อนนำเสนอ นบมส. และ ครม.ไฟเขียวแผน
          
น.ส.วิบูลลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลังทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์มันสำปะหลังระยะ 20 ปี หรือตั้งแต่ปี 2560-2579 เป็นการนำยุทธศาสตร์มันสำปะหลังระยะเวลา 10 ปี หรือตั้งแต่ปี 2560-2569 มาจัดทำรายละเอียดใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะต้องมีการใช้นวัตกรรมมาแก้ไขปัญหามันสำปะหลังอย่างเป็นระบบ โดยคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์จะแล้วเสร็จ และสามารถนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ

สำหรับแผนยุทธศาสตร์มันสำปะหลังระยะ 20 ปี เบื้องต้นแบ่งเป็น ระยะที่ 1 คือ ปีที่ 1 และปีที่ 2-4 หรือตั้งแต่ปี 2560-2561 และปี 2561-2564 หลังจากนั้นแผนจะดำเนินการระยะเวลาเป็นช่วงครั้งละ 5 ปี คือ ตั้งแต่ปีที่ 2565-2569 ปี 2569-2574 และปี 2574-2579 ซึ่งระยะแรกจะเน้นเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนให้กับการปลูกมันสำปะหลัง โดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2562 จะต้องเพิ่มผลผลิตให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันไร่ละ 3 ตัน เป็น 5 ตัน และเพิ่มเป็น 7 ตันภายในปี 2569 หรือ 10 ปีนับจากนี้ มีเชื้อแป้งเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 25-27% เป็น 25-30% ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูก 8.5 ล้านไร่ ให้มีการพัฒนาพันธุ์ที่ดี ใช้เทคโนโลยีการเพาะปลูก อาทิ ระบบน้ำหยด ที่สามารถเพิ่มเปอร์เซ็นเชื้อแป้งได้ ก็จะเป็นการลดต้นทุนลงไปในตัวด้วย

ส่วนในด้านการแปรรูปจะมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังซึ่งเป็นแผนระยะต่อมา คือ จะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ด้วยการใส่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไป  อาทิ นำไปทำไบโอพลาสติก อุตสาหกรรมอาหาร สารโซเว้นซ์ ที่เป็นสารละลายไม่ให้มีความหนึบเกินไป กาว กระดาษ สิ่งทอ สารให้ความหวาน ยา เป็นต้น โดยในส่วนนี้ผู้ประกอบการจะมีสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่แล้ว โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2562 ต้องมีมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่า 1.2 แสนล้านบาท ก่อนเพิ่มเป็น 1.5 แสนล้านบาทในปี 2569

“ปัญหาหลักของมันสำปะหลังปัจจุบัน คือ ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเดียวกันจำนวนมาก จึงทำให้ราคาตกต่ำ ทั้งๆ ที่ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งในระยะแรก จะดูด้านผลผลิตก่อนว่า พื้นที่ใดเหมาะสมกับการเพาะปลูก พัฒนาพันธุ์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น และบริหารช่วงเวลาที่จะออกสู่ตลาดจากเดิมกระจุกตัวอยู่ในช่วง 3 เดือน จะยืดเป็น 6 เดือนได้หรือไม่ เพื่อให้มีผลผลิตกระจายออกสู่ตลาด ป้อนโรงงานแปรรูป ทั้งมันเส้น แป้งมัน และเอทานอลได้ทั้งปี ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น เพราะผลผลิตที่ออกมามีตลาดรองรับและได้ราคาที่ดี จากนั้นก็จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต จากเดิม 1 สินค้า 1 ตลาด ไปสู่อุตสาหกรรมที่มีความหลากหลายและมีมูลค่าเพิ่ม” น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าว

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าวว่า ในปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตมันสำปะหลังฤดูกาลผลิต 2559/60 ทั้งสิ้น 31.19 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2% โดยจะออกมากในช่วง ม.ค.-เม.ย. ถึง 18 ล้านตัน หรือ 57% ของผลผลิตทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ออกสู่ตลาดมาแล้ว 4.41 ล้านตัน หรือ 14% ขณะที่ทั้งประเทศต้องการใช้หัวมันสด 41.33 ล้านตัน ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ แม้ว่าจะมีการรับซื้อหัวมันปัจจุบันราคา กก.ละ 1.70-1.80 บาท แต่ก็ยังต่ำกว่าต้นทุนของเกษตรกรที่ กก.ละ 1.87 บาท และผู้ประกอบการยังต้องนำเข้าหัวมันสดอีก 9-10 ล้านตัน โดยกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ห้ามนำเข้า แต่ต้องการให้เน้นการตรวจสอบด้านสุขอนามัยด้วย เนื่องจากหัวมันสดที่นำเข้ามานั้น มักมีเชื้อโรคเยอะ

ปัจจุบันนี้ ราคาหัวมันสดเชื้อแป้ง 25% ที่ จ.นครราชสีมา กก.ละ 1.85 บาท ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน กก.ละ 2.35 บาท ส่วนราคาหัวมันสดคละ กก.ละ 1.33 บาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ กก.ละ 1.95 บาท ขณะที่มันเส้น ราคาส่งออก (เอฟโอบี) กก.ละ 6.04-6.22 บาท หรือตันละ 170-175 เหรียญสหรัฐ ต่ำกว่าช่วงเดียวกันที่ราคา กก.ละ 6.61-6.97 บาทหรือ ตันละ 185-195 เหรียญสหรัฐ ส่วนแป้งมัน ส่งออก (เอฟโอบี) กก.ละ 11.91 บาท หรือตันละ 335 เหรียญสหรัฐ ต่ำกว่าปีก่อน ที่ กก.ละ 13.75-14.11 บาท หรือตันละ 385-395 เหรียญสหรัฐ และช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันไปแล้ว 8.09 ล้านตัน ลดลง 10% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 7.55 หมื่นล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น