xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” คลอดยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมัน 20 ปี เน้นเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ทำเป็นสินค้านวัตกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” คลอดยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันระยะ 20 ปี เล็งเสนอ กนป. เห็นชอบเร็วๆ นี้ก่อนนำไปใช้จริง หวังยกระดับรายได้เกษตรกร ดันอุตสาหกรรมเข้มแข็ง เผยได้วางแผนเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มไปสู่สินค้านวัตกรรม ทั้งวิตามิน ไบโอดีเซล ยันปี 64 เลิกคุมราคาน้ำมันปาล์มขวด ปี 65 เลิกแทรกแซงตลาด

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการปาล์มน้ำมัน ที่มีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ได้จัดทำยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ระยะ 20 ปี (2559-2579) เสร็จแล้ว โดยจะนำเสนอให้คณะกรรมการปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน พิจารณาเร็วๆ นี้ หากเห็นชอบจะนำไปใช้ได้ทันทีเพื่อพัฒนาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของไทยไปสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอล ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์จากปาล์ม และเสริมสร้างการแข่งขันของไทย รวมทั้งทำให้อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยเข้มแข็ง ยกระดับรายได้ของผู้ปลูกปาล์ม และทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สำหรับยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการผลิต ด้านนวัตกรรม ด้านมาตรฐาน ด้านพลังงาน ด้านการตลาด และด้านการบริหารจัดการ

โดยในด้านการผลิต จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่เป็น 2.5-2.75 ตันในปี 2560-64 และเพิ่มเป็น 2.75-3 ตันในปี 2565-69 ส่วนปี 2570-74 เพิ่มเป็น 3-3.5 ตัน และปี 2575-79 เพิ่มเป็น 3.25-3.50 ตัน ขณะเดียวกัน จะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก จากปัจจุบัน 4.81-5.23 ล้านไร่ เป็น 6.06-7.23 ล้านไร่ในปี 2579 รวมถึงลดต้นทุนการผลิต เพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันในผลปาล์มให้สูงขึ้นเป็น 22% ใน 5 ปี หรือภายใน 2564 จากปัจจุบันอยู่ที่ 17-18% ซึ่งจะทำให้เกษตรกรขายได้ราคาดีขึ้น และจะวางแผนการผลิตในพื้นที่เหมาะสม ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสมจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นแทน ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ถ่ายทอดเทคโนโลยี

ด้านนวัตกรรม จะพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย จากปัจจุบันที่ส่วนใหญ่ผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค เช่น เป็นน้ำมันปาล์มขวด สบู่ ครีมบำรุงผิว เครื่องสำอาง ไปสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอลขั้นต้นและขั้นปลาย ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เช่น วิตามินอี อุตสาหกรรมไบโอดีเซล เป็นต้น

ด้านมาตรฐาน จะผลักดันให้มีการรับรองปาล์มน้ำมันตามมาตรฐาน GAP ผลักดันให้ขึ้นทะเบียนลานเท และจัดทำมาตรฐานลานเท พัฒนาและส่งเสริมเครื่องวัดเปอร์เซ็นต์น้ำมันจากทะลายปาล์ม พัฒนามาตรฐานโรงงานสกัด เพิ่มประสิทธิภาพมาตรฐานโรงงานสกัด ผลักดันมาตรฐานการผลิตสู่มาตรฐานสากล

ด้านพลังงาน จะเพิ่มความต้องการใช้ให้มากขึ้น โดยจะเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์มดิบในการผลิตไบโอดีเซลให้สูงขึ้นเป็น บี 10 ภายในปี 2569 และเพิ่มบี 20 ในปี 2579

ด้านการตลาด จากการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น และเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ทำให้คาดว่าในปี 2560-64 ไทยจะมีน้ำมันปาล์มดิบ 2.26-2.29 ล้านตัน และจะเพิ่มเป็น 2.49-2.82 ล้านตันในปี 2565-69 ส่วนปี 2570-74 เพิ่มเป็น 2.86-3.36 ล้านตัน และปี 2575-79 เพิ่มเป็น 3.78-6.31 ล้านตัน ซึ่งจะบริหารจัดการสต๊อกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะยกเลิกการแทรกแซงตลาดปาล์มตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป รวมถึงจะลอยตัวราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดเพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาด จากปัจจุบันกำหนดราคาเพดานสูงสุดที่ขวด/ลิตรละ 42 บาท พร้อมกันนั้น จะผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มผลิตภัณฑ์ไปซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ขยายการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนวัตกรรม

ด้านการบริหารจัดการ ภายในปี 2560 กนป.จะเสนอให้ ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ที่สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ยกร่าง และนำเสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ซึ่งคาดว่าน่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีผลบังคับใช้ในปี 2561

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าวถึงสถานการณ์ปาล์มว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาผลปาล์มสดอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 5.80 บาท จากก่อนหน้าที่ กก.ละ 6 บาท ส่วนราคาน้ำมันปาล์มดิบกก.ละ 33 บาท จากก่อนหน้าที่ 37-38 บาท ขณะที่สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ 210,000 ตัน โดยราคาปรับลดลงเล็กน้อยเป็นเพราะผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่วนที่มีข่าวว่าราคาน้ำมันปาล์มขวดสูงเกินราคาเพดาน ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะกรมฯ ยังอยู่ในช่วงขอความร่วมมือผู้ค้า ทั้งห้างค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ขายในราคาเพดานไม่เกิน 42 บาท แม้ช่วงก่อนหน้านี้ราคาปาล์มสด และน้ำมันปาล์มดิบสูงขึ้นมาก คาดว่าสถานการณ์ปาล์มจะเข้าสู่ภาวะปกติในเร็วๆ นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น