xs
xsm
sm
md
lg

จำแนก 5 แพลตฟอร์มสื่อทรงอิทธิพลต่อผู้บริโภคสินค้า FMCG

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากบทบาทและอิทธิพลที่เริ่มเพิ่มสูงขึ้นของสื่อดิจิตอลในสังคมไทยยุคเทคโนโลยี 4G ทำให้หลายๆ ฝ่ายเฝ้าจับตามองการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของสื่อดั้งเดิมทุกประเภท ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ หรือแม้แต่สื่อนอกบ้าน (Out Of Home : OOH) ว่าจะยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคสินค้าและบริการ รวมถึงผู้ต้องเสพข้อมูลข่าวสารมากน้อยเพียงใด

โดยเฉพาะในรอบปี 2559 ซึ่งสื่อดั้งเดิมของประเทศไทยมีการ “เคลื่อนไหว” ทั้งในเชิงลบและบวกอย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นการประกาศปิดตัวของหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับ จนกระทั่งล่าสุดคือการประกาศเพิ่มทุนของสื่อโทรทัศน์ดิจิตอล 2-3 ช่องด้วยการเปิดช่องให้กลุ่มทุนธุรกิจเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจาก “พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง” เป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้เจ้าของแบรนด์สินค้าและบริการต่างๆ จึงจำเป็นต้องใช้ความละเอียดรอบคอบมากขึ้นในการพิจารณาเลือกใช้สื่อประเภทต่างๆ ในการสร้างรับรู้สู่กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย

เปิดผลวิจัยผู้บริโภคในการเสพสื่อทุกแพลตฟอร์ม

โครงการวิจัยชุด “แนวโน้มสื่อทุกแพลตฟอร์ม พร้อมพฤติกรรมการบริโภคสื่อและการสื่อสารต่อแบรนด์สินค้าที่มีผลต่อการจับจ่ายและวางแผนด้านสื่อที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุด” ของ “กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) - Kantar Worldpanel (Thailand)” ผู้นำด้านการวิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคเชิงลึกซึ่งมีความเชี่ยวชาญในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคอัตราการหมุนเวียนสูง หรือ Fast Moving Consumer Goods (FMCG) จึงเกิดขึ้นเพื่อสะท้อนข้อมูลพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน

การวิจัยดังกล่าวเป็นการเก็บรวบรวมพฤติกรรมและความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างจากผู้ซื้อสินค้าและใช้บริการจริง (Key Shopper) จำนวน 4 พันครัวเรือนในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด เพื่อเป็นตัวแทนแสดงผลของผู้บริโภคจำนวน 23 ล้านครัวเรือนในประเทศไทย โดยใช้นวัตกรรม “กันตาร์ แอพ - Panel Smart” ที่พัฒนาบนสมาร์ทโฟนเป็นรายแรกในตลาดประเทศไทย รองรับทั้งระบบแอนดรอยด์และไอโอเอสที่ให้ผลแม่นยำในการเก็บรวบรวมและประมวลผลการวิจัย

การวิจัยดังกล่าวครอบคลุมพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีต่อสื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ทุกช่องทาง โดยเน้นสื่อโทรทัศน์ 21 สถานี (ฟรีทีวีและทีวีดิจิตอล 11 สถานี และเคเบิลทีวี 10 สถานี) สื่อออนไลน์และเว็บไซต์ไทย 25 เว็บไซต์ (รวมถึงเฟซบุ๊ก ไลน์ และยูทูป) สื่อสิ่งพิมพ์ 42 ฉบับ (แยกเป็นหนังสือพิมพ์ 17 ฉบับ และนิตยสาร 25 ฉบับ) นอกจากนี้ยังรวบรวมวิเคราะห์ถึงสื่อวิทยุและสื่อเอาต์ดอร์ สื่ออินสโตร์ ตลอดจนสื่อทรานซิทบนรถขนส่งมวลชนอีกด้วย
นายอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้จัดการด้านพัฒนาธุรกิจ กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์)
แนะแบรนด์ตามทันความเปลี่ยนแปลงผู้บริโภค 

นายอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้จัดการด้านพัฒนาธุรกิจ กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) กล่าวถึงการวิจัยดังกล่าวว่า ผลจากการรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์สำหรับเจ้าของแบรนด์สินค้าและบริการอย่างยิ่ง เพราะเป็นคำตอบของผู้บริโภคภายใต้คำถามหลัก 5 ข้อ คือ 1. สื่อใดที่เข้าถึงผู้บริโภคสูงสุด 2. ควรเลือกใช้สื่อหนังสือพิมพ์ หรือวิทยุดีกว่ากัน 3. โฆษณาในเว็บไซต์ไหนที่ให้ผลดีที่สุด 4. เราควรเลือกทำการโฆษณาในโปรแกรมทีวีใด 5. ควรเลือกใช้สื่อช่องทางไหนในเวลาใดเพื่อทำโฆษณาที่เข้าถึงและให้ผลลัพธ์ดีที่สุดต่อกลุ่มเป้าหมาย

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ได้ข้อมูลวิจัยที่แม่นยำเริ่มจากการพิจารณาโปรไฟล์ของกลุ่มตัวอย่าง การรวบรวมข้อมูลที่ซื้อจริง ผู้ค้าปลีก โปรโมชันและราคาที่มีผลต่อพฤติกรรมการจับจ่าย โดยลงรายละเอียดถึงกลุ่มสินค้า แบรนด์ที่ซื้อ และแบรนด์คู่แข่งที่ได้เลือกซื้อ รวมถึงความจงรักภักดีต่อแบรนด์ที่ซื้อประจำ ตลอดจนแบรนด์ที่ซื้อโดยไม่จงใจ พร้อมระบุถึงกลุ่มผู้ซื้อรายใหญ่และเล็กที่ไม่ภักดีกับแบรนด์ โดยทำแบบสำรวจของการบริโภคสื่อพร้อมๆ กันไป”

นายอิษณาติกล่าวว่า ผลสรุปวิจัยนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนการใช้สื่อที่แม่นยำ ตรงกลุ่มเป้าหมายให้เจ้าของสินค้าและการสร้างแบรนด์ ทั้งยังช่วยในการใช้งบประมาณด้านสื่ออย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเป็นการวิเคราะห์บทบาทของสื่อและแนวโน้มของสื่ออิทธิพลกับการตอบรับของผู้ซื้อสินค้าและบริการ พฤติกรรมผู้บริโภคกับสื่อออนไลน์และการสื่อสารต่อแบรนด์ในทุกช่องทางสื่อ
กราฟแสดงอัตราการเติบโตของสื่อประเภทต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า แม้สื่อดิจิทัลมีการเติบโตสูงสุด แต่สื่อโทรทัศน์และวิทยุยังคงมีการเติบโตที่คงที่ ขณะเดียวกันสื่อสิ่งพิมพ์มีการเติบโตที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
สื่อดิจิทัลมาแรง / โทรทัศน์-วิทยุยังคงที่ / สิ่งพิมพ์ทรุดหนัก

สำหรับตัวอย่างข้อมูลที่น่าสนใจจากการวิจัยครั้งนี้ คือ แม้สื่อดิจิตอลจะมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดอันเนื่องมาจากการเติบโตของอินเทอร์เน็ตถึง 13% จากสัดส่วน 46% ในปี 2558 เป็น 59% ในปี 2559 (คิดเป็นการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน 56% คอมพิวเตอร์พีซีและโน๊ตบุ๊ก 13% และแท็บเล็ต 6%) ขณะเดียวกันสื่อโทรทัศน์และวิทยุยังคงมีอิทธิพลต่อผู้บริโภค โดยสื่อโทรทัศน์มีการเติบโตจาก 97% ในปี 2558 เป็น 98% ในปี 2559 ส่วนวิทยุเติบโตลดลงเล็กน้อยจาก 68% ในปี 2558 เป็น 67% ในปี 2559 แต่สื่อที่มีการเติบโตลดลงอย่างเห็นได้ชัดคือสื่อสิ่งพิมพ์ โดยหนังสือพิมพ์ลดลงจาก 60% ในปี 2558 เป็น 53% ในปี 2559 และนิตยสารลดลงจาก 38% เป็น 32% ในปี 2559

จากการเติบโตของสื่อดิจิตอล สื่อโทรทัศน์ และสื่อวิทยุ “กันตาร์” จึงมีการวิจัยย่อยลงไปอีกจนพบว่า ในแต่ละวันผู้บริโภคเสพสื่อโทรทัศน์ลดลงจากวันละ 3.8 ชั่วโมง เหลือเพียง 3.4 ชั่วโมง ส่วนสื่อวิทยุลดลงจากวันละ 2.5 ชั่วโมง เหลือเพียง 1.7 ชั่วโมง ขณะที่สื่อดิจิทัลมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ทั้งจากการใช้อินเทอร์เน็ตในบ้านเพิ่มขึ้นจากวันละ 2 ชั่วโมง เป็น 2.2 ชั่วโมง ส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตนอกบ้านเพิ่มขึ้นจากวันละ 1.4 ชั่วโมงเป็น 1.6 ชั่วโมง

นายอิษณาติกล่าวอีกว่า การเติบโตของสื่อดิจิทัลส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้งานเฟซบุ๊กของคนไทยที่มีฐานจำนวนผู้ใช้งานสูงขึ้น แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงเวลาการใช้งานต่อครั้งกลับพบว่าลดลงจากครั้งละ 29.9 นาที เหลือเพียง 23.5 นาที อันเนื่องมาจากฐานผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยที่ยังคงใช้เวลาไม่มากนักในการใช้งานเฟซบุ๊ก ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ที่มีการเติบโตลดลงพบว่าผู้ใช้งานยังคงใช้เวลาค่อนข้างมากคือหนังสือพิมพ์ครั้งละ 16.7 นาที่ และนิตยสารครั้งละ 21.7 นาที

“โทรทัศน์” ทรงอิทธิพลต่อเนื่องต่อผู้ตัดสินใจซื้อ

โทรทัศน์ถือเป็นสื่อที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเติบโตของสื่อดิจิตอลจนหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีการคาดการณ์และสำรวจว่าจำนวนผู้ชมโทรทัศน์เริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ แต่เมื่อวิจัยถึงการเข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่มีอำนาจตัดสินใจซื้อพบว่ายังคงเป็นสื่อโฆษณาโทรทัศน์ยังคงมีอิทธิพลสูง โดย “ช่อง 7” สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในต่างจังหวัดและพื้นที่ชนบทห่างไกลมากถึง 92.1% ส่วน “ช่อง 3” เข้าถึงผู้บริโภคในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 91.4% ขณะที่ช่องโทรทัศน์ดิจิทัลอื่นๆ เริ่มมีการเติบโตสองหลักอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะช่อง one31, เวิร์คพ้อยท์ทีวี, โมโน 29, ช่อง 8 และช่อง 3SD

สำหรับประเภทรายการที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมชมยังคงเป็นรายการข่าว, ละคร, เกมโชว์, วาไรตี้, รายการตลกและซิทคอม โดยสัดส่วนผู้บริโภคที่ชมรายการโทรทัศน์ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในต่างจังหวัดและชนบทห่างไกล 87% ขณะที่คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีเพียง 13% โดยความถี่ในการรับชมของผู้บริโภคต่างจังหวัดและชนบทห่างไกลใช้เวลา 3-4 วันต่อสัปดาห์ ส่วนคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลใช้เวลา 1-4 วันต่อสัปดาห์ โดยส่วนใหญ่ใช้เวลารับชมมากที่สุดในช่วงสุดสัปดาห์

นายอิษณาติกล่าวว่า “กันตาร์” ได้ทดลองทำการวิจัยเจาะลึกลงไปถึงผลลัพธ์ของแบรนด์สินค้าที่ได้รับจากการโฆษณาในรายการประเภทอาหารพบว่า กลุ่มผู้บริโภคที่รับชมแล้วตัดสินใจซื้อสินค้าต่างๆ เช่น ซอสปรุงรส ผงปรุงรส อาหารสำเร็จรูป และอื่นๆ มีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ได้ชมรายการ 6-10% ขณะเดียวกันรายการอาหารยังส่งผลให้ผู้บริโภคที่ชมรายการมีการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการอื่นๆ เกี่ยวกับสุขภาพและความงามเพิ่มขึ้นถึง 20%

“วิทยุ - สิ่งพิมพ์” ยังเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค 

นายอิษณาติกล่าวด้วยว่า แม้สื่อดั้งเดิม 2 ประเภทคือ วิทยุ และสิ่งพิมพ์ ต่างมีการเติบโตที่ลดลง แต่ถือได้ว่ายังคงมีอิทธิพลในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายหากเจ้าของสินค้าและบริการพิจารณาถึงกลุ่มอายุผู้ใช้งานและพื้นที่การใช้งาน ดังผลการวิจัยที่พบว่า สื่อวิทยุยังคงเข้าถึงผู้บริโภคในพื้นที่ชนบทห่างไกลซึ่งมีการใช้งานสูงถึง 72.5% รองลงมาคือกรุงเทพฯ และปริมณฑล 62.7% และต่างจังหวัด 57.5% โดยเมื่อเจาะลึกถึงกลุ่มอายุผู้ใช้งานสื่อวิทยุพบว่าส่วนมากเป็นกลุ่มผู้สูงวัยในช่วงอายุ 50-54 ปี และ 60 ปีขึ้นไปสูงถึง 73% รองลงมาคือ อายุ 55-59 ปี 68% และ 45-49 ปี 65% สื่อวิทยุจึงถือเป็นช่องทางสำหรับการทำตลาดกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพผู้สูงวัยที่จะสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่สิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือพิมพ์เหมาะสำหรับการทำตลาดกลุ่มสินค้าและบริการสำหรับกลุ่มคนชั้นกลางที่มีการศึกษาระดับปานกลาง-สูง เพราะเข้าถึงผู้บริโภคในกรุงเทพฯ และปริมณฑล สูงสุดถึง 62.7% รองลงมาคือต่างจังหวัด 57.6% และพื้นที่ชนบทห่างไกล 47.1% โดยกลุ่มผู้อ่านส่วนมากเป็นวัยกลางคนในช่วงอายุ 40-44 ปี มีสัดส่วนสูงถึง 60% รองลงมาคืออายุ 50-54 ปี มีสัดส่วน 56% และอายุ 30-34 ปี และ 55-59 ปี มีสัดส่วนเท่ากันคือ 54%

ส่วนนิตยสารเหมาะสำหรับการทำตลาดสินค้าและบริการสำหรับกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้นในหัวเมืองใหญ่ เพราะเข้าถึงผู้บริโภคในต่างจังหวัดสูงถึง 37.3% รองลงมาคือกรุงเทพฯ และปริมณฑล 36.4% และพื้นที่ชนบทห่างไกล 27.6% โดยกลุ่มผู้อ่านส่วนมากเป็นกลุ่มวัยทำงาน อายุ 30-34 ปี มีสัดส่วน 40% รองลงมาเป็นวัยรุ่น อายุ 18-24 ปี สัดส่วน 35% วัยกลางคนอายุ 40-44 ปี สัดส่วน 34% ใกล้เคียงกับกลุ่มวัยรุ่นวัยทำงานตอนต้นอายุ 25-29 ปี และอายุ 35-39 ปี สัดส่วน 33%

ทึ่งผลวิจัยพบการใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ได้เติบโตสูงตามการใช้งานสมาร์ทโฟน 

แม้การเสพสื่อดิจิตอลที่มีการเติบโตขึ้นเพราะผู้บริโภคมีการใช้งานสมาร์ทโฟนสูงขึ้นในทุกภูมิภาคคือ จาก 19%ในปี 2558 เป็น 67% ในปี 2559 แบ่งเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล จาก 39% เป็น 90% ต่างจังหวัดจาก 30% เป็น 82% และพื้นที่ชนบทห่างไกลจาก 10% เป็น 53%

แต่ผลการวิจัยกลับพบว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนไม่ได้มีการเติบโตในทิศทางเดียวกัน เพราะมีผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนถึง 23% ที่ไม่มีการใช้ดาต้าแพคเกจอินเทอร์เน็ต (คิดเป็นผู้ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตเลยถึง 13% และใช้อินเทอร์เน็ตผ่านระบบสาธารณะ ทั้งจากบ้าน สถานที่ทำงาน และไว-ไฟสาธารณะ 10%) ส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจากสมาร์ทโฟนจำนวน 77% มีการใช้อินเทอร์เน็ตและไว-ไฟจากบ้าน 36% ไว-ไฟสาธารณะ 26% ไว-ไฟในสถานที่ทำงาน 6% และไว-ไฟจากสมาร์ทโฟนเครื่องอื่น 1%

“จำนวนการใช้งานสมาร์ทโฟนถือเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของแต่ละประเทศ โดยเหตุผลสำคัญที่มีผลต่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนคือแอปพลิเคชันต่างๆ ที่มีผลต่อฐานผู้ใช้งานในแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มเด็กที่ผู้ปกครองซื้อสมาร์ทโฟนให้ใช้งานเพราะมีแอปพลิชั่น GPS ที่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวในการเดินทาง หรือกลุ่มผู้สูงวัยที่มีความต้องการใช้งานสมาร์ทโฟนเพราะสามารถขยายภาพและตัวอักษรบนหน้าจอให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เจ้าของสินค้าและบริการจึงจำเป็นต้องเข้าใจในการเลือกใช้พื้นที่โฆษณาบนสมาร์ทโฟนเพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย” นายอิษณาติกล่าว

ชอปปิ้งออนไลน์รับอานิสงส์เพราะ “สื่อดิจิตอล” 

ในแง่การใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เครื่องคอมพิวเตอร์พีซี และโน้ตบุ๊ก ส่วนใหญ่เน้นใช้งานใน 5 กิจกรรมหลักคือ เสริ์ชเอนจิน แชตออนไลน์ ชมและอัปโหลดภาพ ชมวิดีโอ และติดตามข่าวสารที่สนใจ

ขณะเดียวกัน “เฟซบุ๊ก” ถือเป็นโซเชียลมีเดียช่องทางสำคัญที่ส่งผลให้สื่อดิจิตอลมีการเติบโตอย่างเด่นชัด โดยกิจกรรมต่างๆ ของผู้ใช้งานยังส่งผลให้การใช้สื่อโฆษณาบนเฟซบุ๊กในแง่ของการชอปปิ้งออนไลน์มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญด้วย เมื่อผลวิจัยพบว่าผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมีการชมแฟนเพจของแบรนด์ต่างๆ สูงขึ้นจาก 62% ในปี 2558 เป็น 68% ในปี 2559 การชมโฆษณาของแบรนด์ต่างๆ เพิ่มขึ้นจาก 60% เป็น 65% การคลิกโฆษณาของแบรนด์ต่างๆ เพิ่มขึ้นจาก 44% เป็น 54% และการคลิกเข้าไปยังช่องทางอี-คอมเมิร์ซและร้านค้าออนไลน์ของแบรนด์ต่างๆ เพิ่มขึ้นจาก 33% เป็น 37%

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ ผู้สนใจเรื่องชอปปิ้งออนไลน์ และอี-คอมเมิร์ซส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้นที่มีอายุระหว่าง 18-34 ปี จึงถือเป็นโอกาสทางการตลาดสำหรับธุรกิจชอปปิ้งออนไลน์ที่จะใช้เป็นช่องทางสื่อสารโดยตรงกับกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย ดังจะเห็นได้จากผู้ชมแฟนเพจของแบรนด์ต่างๆ ส่วนใหญ่มีอายุ 30-34 ปี คิดเป็นสัดส่วนถึง 79% รองลงมามีอายุ 18-24 ปี ด้วยสัดส่วน 77% และอายุ 25-29 ปี คิดเป็น 75%

สำหรับการชมโฆษณาของแบรนด์ต่างๆ พบว่า ผู้ใช้งานหลักมีอายุ 25-29 ปี คิดเป็น 78% อายุ 18-24 ปี 75% และอายุ 30-34 ปี 69% ขณะที่การคลิกโฆษณาของแบรนด์ต่างๆ ผู้ใช้งานหลักมีอายุ 25-29 ปี คิดเป็น 66% อายุ 30-34 ปี 61% และอายุ 18-24 ปี 57% ส่วนการคลิกเข้าไปยังช่องทางอี-คอมเมิร์ซและร้านค้าออนไลน์ของแบรนด์ต่างๆ ผู้ใช้งานหลักมีอายุ 25-29 ปี คิดเป็น 58% อายุ 30-34 ปี 45% และอายุ 18-24 ปี 41%

“สื่ออินสโตร์” ประสิทธิภาพสูงสุดในกลุ่มสื่อนอกบ้าน

ในส่วนของสื่อนอกบ้านประเภทต่างๆ ยังถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เจ้าของแบรนด์สินค้าและบริการสามารถใช้สื่อสารกับผู้บริโภคได้หากมีการเลือกใช้งานอย่างเหมาะสม โดยพบว่าประเภทของสื่อนอกบ้านที่เข้าถึงผู้บริโภคสูงสุดคือสื่ออินสโตร์ 18% ตามด้วยป้ายบิลบอร์ด 7% และสื่อทรานซิท 4% ขณะเดียวกัน สื่อทรานซิตยังเป็นสื่อนอกบ้านที่กลุ่มผู้บริโภคไม่เคยเห็นเลยสูงถึง 30% ตามด้วยป้ายบิลบอร์ด 10% และสื่ออินสโตร์ 6%

เมื่อสำรวจถึงพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าสื่อนอกบ้านที่ผู้บริโภคพบเห็นมากสุดคือสื่ออินสโตร์ 17% ตามด้วยป้ายบิลบอร์ด 11% และสื่อทรานซิท 10% โดยสื่อที่ไม่เคยพบเห็นเลยที่มีสัดส่วนสูงสุดยังคงเป็นสื่อทรานซิท 16% ป้ายบิลบอร์ด 11% และสื่ออินสโตร์ 8% ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดและหัวเมืองใหญ่พบว่าสื่อที่ผู้บริโภคพบเห็นมากสุดคือ สื่ออินสโตร์ 19% ป้ายบิลบอร์ด 9% และสื่อทรานซิต 5% โดยสื่อที่ไม่เคยพบเห็นเลยคือ สื่อทรานซิท 27% ป้ายบิลบอร์ด 7% และสื่ออินสโตร์ 5%



กำลังโหลดความคิดเห็น