xs
xsm
sm
md
lg

ตลาด FMCG ฟื้นตัว 3% แนะสินค้าเจาะตลาดเฉพาะพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายแกเร็ต อิลิส ผู้อำนวยการสายงานธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด
ผู้จัดการรายวัน 360 - “กันตาร์” เผยข้อมูลเชิงลึกผู้บริโภคกลุ่มสินค้า FMCG เริ่มกล้าตัดสินใจซื้อสูงขึ้น ส่งผลตลาดโต 3% ถึงไตรมาสแรกปี 60 หลังตกฮวบจาก 11% ในปี 2555 แนะแบรนด์จัดกลยุทธ์ตลาดต่างจังหวัดเพราะตัดสินใจซื้อง่ายกว่าคนเมือง

นายแกเร็ต อิลิส ผู้อำนวยการสายงานธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้นำตลาดด้านการวิจัยพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคเชิงลึก เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ทำผลสำรวจเกี่ยวกับการตลาดของกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีอัตราการบริโภคสูง หรือ FMCG (Fast Moving Consumer Goods) รวม 92 กลุ่มสินค้าที่สำคัญ พบว่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ตลาด FMCG ยังคงมีอัตราการเติบโตที่ลดลงต่อเนื่อง คือเติบโต 4.7% ในปี 2552 เพิ่มเป็น 5.3% ในปี 2553 และ 6.2% ในปี 2554, ก่อนเติบโตสูงสุด 11.0% ในปี 2555 อันเนื่องมาจากปัจจัยหลักคือภาวะอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น

แต่ในปี 2556 อัตราการเติบโตเริ่มลดลงมาเหลือเพียง 7.7% และเหลือเพียง 2.6% ในปี 2557 ทั้งยังลดต่อเนื่องจนถึงปี 2558 ด้วยอัตรา 2.2% จนเริ่มฟื้นตัวเมื่อถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ด้วยอัตรา 2.7% โดยคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2559 ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกปี 2560 จะสามารถเติบโตได้ถึง 3% เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมีกำลังซื้อและกล้าตัดสินใจใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

จากผลการวิจัยยังพบว่าผู้บริโภคมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยนิยมซื้อสินค้า 2 ใน 3 ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ ด้วยการเน้นขนาดและปริมาณมากกว่า 68% รวมถึงการจัดโปรโมชันที่ได้รับความนิยมมากขึ้นตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเลือกซื้อเพราะโปรโมชัน 30% เพิ่มเป็น 31.9% ในปี 2558 และ 34% ในปี 2559

“ผู้บริโภคยุคปัจจุบันมีพฤติกรรมการจับจ่ายที่พิถีพิถันและรอบคอบมากขึ้น ดังนั้นการวางแผนการตลาดของแต่ละสินค้าจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เช่น ราคา ขนาดแพกแกจ บทบาทของสินค้า ขนาดทดลอง การทบทวนโปรโมชันที่จะได้ผล รวมถึงกลยุทธ์การขายในพื้นที่ชนบทซึ่งปัจจุบันมีอำนาจการซื้อสูงกว่าคนเมือง”

นายแกเร็ตกล่าวด้วยว่า จากผลสำรวจดังกล่าวพบว่าผู้บริโภคมีการเข้าถึงสินค้ากลุ่ม FMCG ในไฮเปอร์มาร์เกตในสัดส่วนที่สูงคือ 60.2% ในเทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี 45.7%, แม็คโคร 23.4% ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต 11.6% โดยซูเปอร์มาร์เกตท้องถิ่นยังคงเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงสินค้าของผู้บริโภคถึง 43% ขณะที่ร้านสะดวกซื้อ เซเว่น-อีเลฟเว่น มีผู้บริโภคเข้าถึงสินค้า 70.9%

ส่วนการจับจ่ายต่อครั้งในเทสโก้ โลตัส คิดเป็นจำนวนเงิน 3,398 บาท คิดเป็น 269 บาทต่อคน, บิ๊กซี 2,374 บาทต่อครั้ง คิดเป็น 286 บาทต่อคน, แม็คโคร 1,525 บาทต่อครั้ง คิดเป็น 312 บาทต่อคน, ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต 1,768 บาทต่อครั้ง คิดเป็น 266 บาทต่อคน, ซูเปอร์มาร์เกตท้องถิ่น 3,823 บาทต่อครั้ง คิดเป็น 237 ต่อคน และเซเว่น-อีเลฟเว่น 1,428 บาทต่อครั้ง คิดเป็น 60 บาทต่อคน

“ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นด้วยว่าปัจจุบันมีคนไทยมากถึง 1 ใน 4 ที่ซื้อของในแม็คโคร เพื่อใช้ในครัวเรือนมากขึ้น แตกต่างจากเดิมที่ส่วนใหญ่มักเป็นร้านโชวห่วยที่นิยมซื้อไปจำหน่ายต่อ นักการตลาดจึงจำเป็นต้องปรับตัวและวางแผนเชิงลึก รวมถึงกลยุทธ์การตลาดพิเศษเฉพาะแต่ละพื้นที่ ทั้งในแง่ของประเภทสินค้า ขนาดสินค้า โปรโมชันแคมเปญ และช่องทางการขายที่ผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่เลือกจับจ่าย” นายแกเร็ตกล่าวในตอนท้าย



กำลังโหลดความคิดเห็น