xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ปัจจัยบวก FMCG ออนไลน์ คาดปี 62 คนไทยเข้าถึง 20%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายคาร์เร็ต อิลิส ผู้อำนวยการด้านคอมเมอร์เชี่ยล บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์)
ผู้จัดการรายวัน 360 - เผยช่องทางอี-คอมเมิร์ซตลาด FMCG ไทยเติบโตต่อเนื่อง คาดผู้บริโภคเข้าถึง 15-20% ของจำนวนครัวเรือนในปี 62 คาดอนาคตมูลค่าทั่วโลกสูงถึง 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 9% ของตลาดรวม “กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล” แนะ 5 ปัจจัยรับมือนักช้อปออนไลน์

นายคาร์เร็ต อิลิส ผู้อำนวยการด้านคอมเมอร์เชี่ยล บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) ผู้นำด้านการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกและเชี่ยวชาญในกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค หรือ FMCG (Fast Moving Consumer Goods) เปิดเผยว่า ภาพรวมการเติบโตของตลาด FMCG ทั่วโลกในปี 2559 มีการเติบโต 1.3 % โดยคาดว่าจะยังคงเติบโตต่ำลงลงประมาณ 1.2% ในปี 2560 ถือเป็นการลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเติบโต 5.9% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ประกอบกับผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์สินค้ามีความระมัดระวังในการใช้จ่ายด้านการทำการตลาดมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้า FMCG ในช่องทางอี-คอมเมิร์ซกลับมีอนาคตสดใสด้วยอัตราการเติบโตถึง 15% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วน 4.4% หรือประมาณ 4.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐของตลาดรวม FMCG ทุกช่องทาง โดยคาดว่าภายในปี 2568 ตลาด FMCG ในช่องทางอี-คอมเมิร์ซจะเติบโตเป็น 9% หรือคิดเป็น 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

นายคาร์เร็ต กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของตลาด FMCG ในช่องทางอี-คอมเมิร์ซเป็นผลมาจากการจัดโปรโมชั่นด้านราคา จำนวนและความหลากหลายของสินค้า รวมถึงบริการส่งสินค้าฟรีที่สะดวกรวดเร็ว ทั้งนี้แม้จะพบว่าผู้บริโภคสินค้าผ่านช่องอี-คอมเมิร์ซมีการใช้จ่ายมากกว่าช่องทางปรกติ 3 เท่า ทั้งยังมักมีการจับจ่ายซื้อสินค้าในรายการที่เคยซื้อเป็นประจำสูงถึง 55% แต่ผู้บริโภคในแต่ละประเทศต่างมีปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อในด้านวัฒนธรรม อุปนิสัย และความเชื่อที่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์สินค้าจึงจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ละเอียดก่อนกำหนดแผนการตลาดโดยไม่มีสูตรสำเร็จเป็นแบบแผนในทุกๆ ตลาด

ในส่วนของประเทศไทยพบว่าตลาดมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในปี 2557 มีผู้บริโภคเข้าถึง 1.4% ของจำนวนครัวเรือน ก่อนเพิ่มเป็น 2.7% ในปี 2558 และ 4.4% ในปี 2559 โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็น 15-20% ในปี 2562 โดยปัจจุบันมูลค่าตลาด FMCG ในช่องทางอี-คอมเมิร์ซมีมูลค่าประมาณ 2.5 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.6% ของตลาดรวม FMCG ทุกช่องทาง

“ผู้บริโภคชาวไทยมีความถี่ในการซื้อเฉลี่ย 2.3 ครั้งต่อปี แต่ละครั้งมีการใช้จ่าย 658 บาท สูงกว่าการใช้จ่ายผ่านช่องทางปรกติ หรือไฮเปอร์มาร์เก็ตที่ซื้อต่อครั้ง 279 บาท โดยพบว่ากลุ่มสินค้าที่มียอดขายสูงสุดคือกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม รวมถึงสินค้าแม่และเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มนมผงสำหรับทารกที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจาก 0.2% ในปี 2557 เพิ่มเป็น 0.6% ในปี 2558 และ 1.5% ในปี 2559”

นายคาร์เร็ต กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาด FMCG และธุรกิจค้าปลีกในอนาคตถือว่ามีความท้าทายในการเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นอันเนื่องมาจากการเติบโตของช่องทางอี-คอมเมิร์ซซึ่งนอกจากจะต้องจำเป็นลงทุนและพัฒนาช่องทางออนไลน์และอี-คอมเมิร์ซเป็นของตนเองแล้ว ยังจำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลัก 5 ด้านสำคัญคือ 1.พฤติกรรมของนักชอปออนไลน์กลุ่มใหม่ (New Shopper) 2.ความสะดวกสบายที่ต้องมอบให้ผู้บริโภคมากขึ้น (Greater Convenience) 3.การพัฒนาระบบชำระเงิน (A Payment Revolution) 4.การมอบประสบการณ์ชอปปิ้งเสมือนจริง (Seamless Shopping Experiences) และ 5.การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับสิ่งต่างๆ ที่มีผลต่อผู้บริโภค (The Internet of Things)

สำหรับพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มสินค้า FMCG ผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซในตลาดโลกพบว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีผู้บริโภคเข้าถึงช่องทางอี-คอมเมิร์ซมากที่สุดถึง 70% ของจำนวนครัวเรือน มีความถี่ในการซื้อเฉลี่ย 14 ครั้งต่อปี ตลาดมีการเติบโต 16.6% รองลงมาคือญี่ปุ่นและจีน ผู้บริโภคเข้าถึงประมาณ 50% ของจำนวนครัวเรือน มีความถี่ในการซื้อเฉลี่ย 3-4 ครั้งต่อปี โดยตลาดญี่ปุ่นมีการเติบโต 7.2% ส่วนจีน ตลาดเติบโต 4.2% อังกฤษ ผู้บริโภคเข้าถึง 30% ของจำนวนครัวเรือน มีความถี่ในการซื้อเฉลี่ย 14 ครั้งต่อปี ตลาดมีการเติบโต 6.9%

ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกา แม้จะมีผู้บริโภคเข้าถึง 30% ของจำนวนครัวเรือน แต่มีความถี่ในการซื้อเฉลี่ย 4 ครั้งต่อปี ตลาดเติบโต 1.4% เช่นเดียวกับเยอรมนีมีผู้บริโภคเข้าถึง 20% ของจำนวนครัวเรือน แต่มีความถี่ในการซื้อเฉลี่ย 4 ครั้งต่อปี ตลาดเติบโต 1.2% เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งสองประเทศยังคงยึดติดกับวัฒนธรรมในการเลือกซื้อสินค้าที่จับต้องได้เป็นจำนวนมาก



กำลังโหลดความคิดเห็น