xs
xsm
sm
md
lg

ปิดจริงรื้อจริง ปิดตำนานสะพานรัชโยธิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปิดจริง รื้อจริง สะพานรัชโยธิน ตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 6 ธ.ค. 59 รฟม.เผยผู้รับเหมาระดมเครื่องจักรใหญ่ลงพื้นที่ รื้อสะพานเสร็จใน ม.ค. 60 ส่วนอุโมงค์ทางลอดเสร็จ ก.พ. 62 ตามแผน ด้านตำรวจกำชับทุกขั้นตอนจัดจราจรกระทบน้อยที่สุด

พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รรท.รอง ผบ.ตร.เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามผลการทดลองปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินวานนี้ (6 ธ.ค.) ว่า หลังจากที่มีการทดลองปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินเสมือนจริงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ปิดการจราจรบนสะพานข้ามแยกรัชโยธินแบบถาวรต่อเนื่อง โดยจะทำการส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้รับเหมาเข้ารื้อถอนสะพานข้ามแยกรัชโยธินได้ภายในเวลา 24.00 น. ของวันที่ 6 ธ.ค. 59 เป็นต้นไป ซึ่งผู้รับเหมาจะเริ่มนำเครื่องจักรเข้าพื้นที่ตั้งแต่คืนวันอังคารนี้ และจะดำเนินการรื้อถอน ก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดและสะพานยกระดับในแนวถนนพหลโยธินโดยใช้เวลา 2 ปี

ทั้งนี้ ได้กำชับผู้รับเหมาห้ามวางแบริเออร์ล้ำผิวการจราจร โดยในแนวถนนรัชดาภิเษกจะต้องเหลือด้านละ 3 ช่องทางเช่นเดิม ส่วนช่วงกลางคืนหลังเวลา 22.00 น.ไปแล้วก็สามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม และก่อนเวลา 05.00 น.ของวันรุ่งขึ้นจะต้องคืนผิวการจราจรให้ประชาชนสัญจรได้ตามปกติ

พร้อมกันนี้ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล สน.ในพื้นที่และ สน.ใกล้เคียงให้เร่งระบายการจราจรเพิ่มเติม โดยเฉพาะในแนวถนนลาดพร้าวและถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งในที่ประชุมกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้เสนอขอปรับกายภาพปาดทางเดินเท้าบริเวณซอยลาดพร้าว 23 เพื่อลดปัญหาขณะรถเลี้ยวต้องใช้พื้นที่มากทำให้กระทบรถทางตรง และขอรั้วกั้นถาวรบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าวเพื่อป้องกันรถสาธารณะส่งผู้โดยสารและจอดแช่ทำให้เสียช่องจราจร ซึ่ง กทม.ได้รับแนวคิดและพร้อมดำเนินการตามทันที

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการบริหารจัดการจราจรในแนวถนนรัชดาภิเษกและถนนพหลโยธินเจ้าหน้าที่ยังสามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งพบว่าช่วงวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมาเป็นวันที่มีการจราจรติดขัดมากที่สุด ถนนรัชดาภิเษก ขาออกท้ายแถวอยู่บริเวณอุโมงค์ลอดแยกสุทธิสาร ขาเข้าอยู่บริเวณทางลงสะพานพระราม 7 ส่วนถนนพหลโยธินขาเข้า พบว่าการจราจรหนาแน่นมากที่สุดในวันที่ 2 ธ.ค. 59 ขาเข้ามีท้ายแถวอยู่บริเวณสะพานข้ามคลองบางบัว ขาออกท้ายแถวอยู่บริเวณห้าแยกลาดพร้าวด้านผลกระทบในเส้นทางอื่นๆ นั้น ถนนวิภาวดีรังสิต และถนนลาดพร้าวมีปริมาณรถเพิ่มมากขึ้นแต่ยังสามารถเคลื่อนตัวได้

ส่วนถนนเกษตร-นวมินทร์ได้รับผลกระทบในเวลาเร่งด่วนเท่านั้น ซึ่งจากการประเมินการจัดระบบการจราจรขณะนี้ยังสามารถแก้ไขด้วยการกดสัญญาณไฟได้อยู่ ยังไม่จำเป็นจะต้องใช้แผนการที่เตรียมไว้ แต่ในด้านถนนพหลโยธินอาจจะรอสัญญาณไฟนานขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณรอบละ 4 นาที เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเร่งระบายการจราจรในแนวถนนรัชดาภิเษก อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลได้กำชับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้เน้นการสร้างความเข้าใจกับประชาชนและประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นว่าที่ผ่านมาตนได้สั่งการให้ทางผู้รับเหมาทำป้ายขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อแจ้งประชาชน รวมทั้งแจ้งเส้นทางเลี่ยงเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนด้วย

ด้านนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีมติให้รื้อสะพานรัชโยธินได้หลังเวลา 24.00 น.นี้ ซึ่งบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาสัญญาที่ 1 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ จะนำเครื่องจักรใหญ่ลงในพื้นที่ทันทีเนื่องจากเตรียมการไว้นานแล้ว อีกทั้งระยะเวลาในการรื้อถอนได้ล่าช้ามาปีกว่า จึงต้องเร่งรัดเพื่อให้แล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค. 60 จากนั้นดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ 2 ปี คาดก่อสร้างเสร็จเดือน ก.พ. 62 และก่อสร้างสะพานรัชโยธินใหม่ในแนวถนนพหลโยธิน 1 ปี คาดก่อสร้างเสร็จ ก.พ. 61

นอกจากนี้ ในถนนพหลโยธินยังมีสะพานอีก 2 สะพาน คือ สะพานข้ามแยกเกษตรที่ได้รื้อไปก่อนหน้านี้ ก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 60 และสะพานข้ามแยกเสนาที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ขอให้เพิ่มมาอีก 1 สะพานนั้น คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 61 ซึ่งหากก่อสร้างสะพานและตัวอุโมงค์แล้วเสร็จนั้นจะเพิ่มประสิทธิภาพจราจรบริเวณแยกรัชโยธินได้อย่างมาก

โดยขณะนี้การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีความคืบหน้า 19% แล้วซึ่งเป็นไปตามแผนที่ทางผู้รับเหมาวางไว้ ส่วนใหญ่ได้มีการขึ้นตอม่อเสารถไฟฟ้าและคานทางวิ่งแล้วซึ่งถือว่าดำเนินการไปมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น