xs
xsm
sm
md
lg

คนกรุงอ่วมปิดสะพานรัชโยธิน ผ่านพ้นวันแรกจราจรสุดวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วันแรกปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินเสมือนจริง 24 ชม. จราจรกระทบวงกว้าง รัชดาฯ, พหลโยธินรถติดตั้งแต่เช้า ตำรวจต้องเปิดจุดกลับรถเชิงสะพานฝั่งขาเข้าให้รถลงจากรัชวิภาเลี้ยวขวาเข้าไทยพาณิชย์ได้ 1 ช่องแทนกลับรถใต้สะพานเพื่อลดปริมาณจราจรที่แยก รอประเมินอีก 7 วัน ด้าน รฟม.เผยสายสีเขียวดีเลย์แล้ว 1 ปี เวลาก่อสร้างตึงมาก ชี้หลัง 6 ธ.ค.ไม่รื้อกระทบโครงการมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม

รายงานข่าวแจ้งว่า จากที่มีการปิดสะพานข้ามแรกรัชโยธิน 24 ชม. เพื่อทดลองปิดเสมือนจริง โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 22.00น. ของคืนวันที่ 29 พ.ย. 2559 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 6 ธ.ค. 2559 เพื่อประเมินสภาพการจราจรนั้น ปรากฏว่าตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 30 พ.ย. ซึ่งเป็นวันแรกที่ปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธิน 24 ชม. การจราจรบนถนนรัชดาภิเษกติดขัดอย่างหนัก

โดย พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น.ดูแลงานจราจร กล่าวว่า สภาพการจราจรช่วงเร่งด่วนเช้ามีปัญหาติดขัดเพิ่มขึ้น โดยถนนรัชดาภิเษก ฝั่งขาออก ท้ายแถวสะสมถึงแยกสุทธิสาร กลับกันฝั่งขาเข้าติดขัดถึงสะพานพระราม 7 ส่วนด้านถนนพหลโยธิน ฝั่งขาเข้า ท้ายแถวถึงตลาดสะพานใหม่ ส่วนฝั่งขาออก บริเวณห้าแยกลาดพร้าว นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบไปยังเส้นทางต่อเนื่องในถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้าช่วงที่จะเลี้ยวเข้าถนนงามวงศ์วานและช่วงที่จะเบี่ยงเข้าถนนรัชดาภิเษก รวมทั้งมีปัญหากระทบไปยังถนนลาดพร้าว ขาเข้า ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า กรณีที่เร่งระบายการจราจรในถนนรัชดาภิเษก ขาเข้า ทำให้รถที่ใช้ถนนลาดพร้าว ขาเข้า เลี้ยวซ้ายเข้าถนนรัชดาบริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าวไม่สามารถเลี้ยวซ้ายได้ทำให้กีดขวางรถทางตรง ประกอบกับประชาชนเริ่มเลี่ยงเส้นทางและหันไปใช้ถนนลาดพร้าวมากยิ่งขึ้นจึงทำให้ระบายรถได้ช้า

และอีกจุดที่มีปัญหาคือถนนรัชดาภิเษก ช่วงเชิงสะพานข้ามแยกรัชโยธิน เพราะจุดดังกล่าวมีปัญหาคอขวด ดังนั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรจึงพิจารณาเปิดจุดกลับรถใหม่บริเวณเชิงสะพานข้ามแยกรัชโยธิน เพื่อให้รถที่ใช้ถนนรัชดาภิเษก ขาเข้า ที่ต้องการจะเข้าธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อลงจากสะพานต่างระดับรัชวิภาให้กลับรถได้ทันทีไม่ต้องไปกลับใต้สะพานข้ามแยกเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะเป็นการช่วยลดปริมาณรถที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องผ่านแยกรัชโยธิน ถือว่าเป็นการเฉลี่ยปริมาณการจราจรของรถที่เข้าแยก และจุดที่ 2 คือบริเวณแยกรัชดาฯ-ลาดพร้าว ซึ่งได้สั่งการให้วางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเพื่อเร่งการเคลื่อนตัวของรถที่ผ่านทางแยกให้มากขึ้น รวมทั้งได้กำชับ สน.วิภาวดีให้รับรถจากถนนลาดพร้าวที่จะผ่านห้าแยกลาดพร้าวให้รวดเร็ว ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์ตนยังเห็นว่าการแก้ไขปัญหาโดยใช้สัญญาณไฟจราจรเร่งระบายยังสามารถจัดการได้ ดังนั้นจึงยังไม่จำเป็นจะต้องใช้แผนการจัดการจราจรตามที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้เตรียมไว้

สำหรับการปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินเพื่อก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกทดแทน เดิมเป็นแผนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ จึงได้นำมารวมไว้ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยมีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาสัญญาที่ 1 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่เป็นผู้รับเหมา มีแผนงานทดลองปิดการจราจรในวันอังคารที่ 22 และวันพุธที่ 23 พ.ย. 2559 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ถึงเวลา 15.00 น. วันพฤหัสบดีที่ 24 และวันศุกร์ที่ 25 พ.ย. 2559 ปิดการจราจรตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึงเวลา 17.00 น. และวันเสาร์ที่ 26 พ.ย. 2559 ปิดเพื่อรื้อสะพานรัชโยธินตั้งแต่เวลา 01.00 น.เป็นต้นไป แต่มีข้อกังวลจากหลายฝ่ายทำให้ต้องขยายเวลาทดลองปิดสะพานไปถึงวันที่  6 ธ.ค. 2559 โดยจะปิดตลอด 24 ชม.
 
แหล่งข่าวจาก รฟม.ระบุว่า มีข้อห่วงใยด้านผลกระทบจราจร จึงตกลงที่จะทดลองปิดสะพานอีก 7 วัน ซึ่งที่ผ่านมา ตำรวจ, รฟม., ผู้รับเหมา ได้เตรียมแผนรองรับในการบริหารจัดการจราจรไว้แล้ว และมีการประชาสัมพันธ์ แจ้งข้อมูลให้ประชาชนรับทราบแผนงานเพื่อเตรียมปรับตัว อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้าวันแรกที่ปิดจราจร 24 ชม. การจราจรติดขัดมากขึ้น และเริ่มคลายตัวในช่วง 10.00 น. โดยจะประเมินการจราจรในช่วงเย็นอีกรอบ
 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีความล่าช้าจากแผนแล้วประมาณ 1 ปี โดยการรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธินเป็นจุดสำคัญที่ล่าช้ามา ซึ่งหากสรุปผลได้ในวันที่ 6 ธ.ค.นี้และเริ่มเข้าสู่แผนงานโดยใช้เวลารื้อสะพาน 2 เดือน หลังจากนั้นจะก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธินอีก 2 ปี แล้วเสร็จในปี 2562 ซึ่ง รฟม.ได้ร่วมกับผู้รับเหมาบริหารจัดการปรับแผนงานเพื่อเร่งรัดการก่อสร้างโครงการให้กลับมาแล้วเสร็จตามแผนงานได้อยู่ แต่หากหลังวันที่ 6 ธ.ค.แล้วยังไม่สามารถเข้าสู่แผนงานก่อสร้างได้ จะกระทบต่อโครงการโดยรวมที่จะเกิดความล่าช้าแบบไม่สามารถเร่งรัดได้ และมีค่าใช้จ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น