ได้เวลารื้อสะพานรัชโยธิน ดีเดย์ 22 พ.ย.เป็นต้นไป ยาวกว่า 2 ปี “รฟม.-ผู้รับเหมา-ตำรวจ” ผนึกแผนระบายรถ แก้จราจรเต็มที่ พร้อมเร่งผู้รับเหมาสร้างอุโมงค์ทดแทนให้เสร็จใน ก.พ. 62 ด้านตำรวจเตรียมแผนจัดจราจรไว้ 3 รูปแบบ กรณีเลวร้ายสุดปิดจราจรแนวพหลฯ ไปยูเทิร์นแทน เพื่อเปิดแนวรัชดาผ่านตลอด โดยหลังรื้อสะพานเสร็จจะปรับจราจรสี่แยกนี้เป็นวงเวียน
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงแผนความพร้อมในการจัดการจราจรระหว่างปิดสะพานรัชโยธิน เพื่อทำการก่อสร้างอุโมงค์ทดแทน และก่อสร้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ว่าจากที่ได้มีการหารือร่วมกันระหว่าง รฟม. ผู้รับเหมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) และตำรวจจราจร มีการศึกษาและทำโมเดลจนมีความพร้อมระดับหนึ่ง พร้อมทั้งให้ผู้รับเหมาจัดหาเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเพื่อใช้พื้นที่ในการก่อสร้างน้อยที่สุด ใช้ระยะเวลาก่อสร้างน้อยที่สุดซึ่งทำแผนลดระยะเวลาก่อสร้างอุโมงค์ได้เหลือ 2 ปี โดยจะแล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2562
ทั้งนี้ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาสัญญาที่ 1 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่) ระบุว่าจะใช้เวลา 2 เดือนในการรื้อสะพานตามถนนรัชดาภิเษก เชิงลาดหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ถึง สน.พหลโยธิน จากนั้นจะก่อสร้างทางลอดอุโมงค์ใหม่ทดแทนแล้วเสร็จภายใน 2 ปี ทั้งนี้ก่อนปิดสะพานนั้นได้มีการปรับปรุงกายภาพของถนน ขยาย 1 ช่องจราจรใน 4 ทิศทางของแยก พร้อมทั้งทำที่กลับรถเพิ่มที่แนวถนนรัชดาฯ หน้าปั๊มเชลล์ และหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ส่วนแนวพหลโยธินมีจุดกลับรถเพิ่มที่ปากซอยพหลโยธิน 35 และขยายจุดกลับรถหน้าโรงเรียนสตรีวรนาถ และกองปราบ
โดยแผนการรื้อสะพานจะเริ่มรื้อเชิงสะพานฝั่ง สน.พหลโยธินก่อน จากนั้นจะทยอยแผ่นพื้นสะพาน เสาตอม่อ จากนั้นจะขยับมารื้อเชิงสะพานฝั่งธนาคารไทยพาณิชย์ ตามด้วยรื้อแผ่นพื้นสะพานและเสาตอม่อ จากนั้นจึงจะรื้อโครงสร้างสะพานตรงกลางแยก ซึ่งจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 2 เดือน โดยจากนั้นจะมีการปรับจราจรบริเวณสี่แยกรัชโยธิน เป็นลักษณะวงเวียนแทน
พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธุ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การมีสะพานข้ามแยกรัชโยธิน เท่ากับรถด้านบนจะสิ่งได้โดยไม่มีไฟแดง เมื่อรื้อสะพานออกรถทุกคันต้องวิ่งพื้นราบเหมือนกัน ดังนั้นจะต้องดูแลการระบายรถให้เร็วที่สุดเพื่อจัดสัญญาณไฟให้สัมพันธ์กับปริมาณรถ ที่สำคัญจะเน้นการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้กับประชาชนเพื่อลดผลกระทบ
พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ด้านการจราจร) กล่าวว่า แผนจัดการจราจรรองรับการรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธิน ผู้รับเหมาจะทดลองปิดจราจรบนสะพานเป็น 3 ช่วง โดยช่วงแรก ตั้งแต่วันที่ 22-23 พ.ย. ตั้งแต่เวลา 10.00-15.00 น. เป็นช่วงนอกชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนปรับตัว ช่วงที่ 2 วันที่ 24-25 พ.ย. ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ช่วงที่ 2 วันที่ 26 พ.ย.ตั้งแต่เวลา 01.00 น.เป็นต้นไป
นอกจากนี้จะมีการเปิดสัญญาณไฟจราจร โดยใช้เจ้าหน้าที่ควบคุมโดยจะเน้นแนวถนนรัชดาภิเษกเป็นหลัก เนื่องจากเป็นถนนวงแหวนชั้นในที่มีความสำคัญ ส่วนแนวถนนพหลโยธิน ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่รับทราบถึงการก่อสร้างรถไฟฟ้าแล้ว ได้มีการหลีกเลี่ยงไปใช้ถนนวิภาวดีทดแทนแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม หากมีผลกระทบต่อการจราจรมาก ได้มีแผนสำรอง 3 รูปแบบ คือ
1. จังหวะการปล่อยสัญญาณไฟจราจรจะเน้นช่วงสั้นๆ ไม่ปล่อยลากยาวในแต่ละทิศทาง 2. ปิดการเลี้ยวขวาทุกทิศทาง ปรับเป็นเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดแล้วให้กลับรถแทน 3. ปิดการจราจรแนวถนนพหลโยธิน โดยปรับเป็นเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดแล้วให้กลับรถในจุดที่กำหนด เช่น แนวพหลโยธินขาเข้า ถึงสี่แยกให้เลี้ยวไปถนนรัชดาภิเษก เพื่อไปกลับรถบริเวณหน้าศาลอาญา หรือแนวพหลโยธินขาออก เมื่อถึงสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายไปกลับรถที่ใต้สะพานข้ามแยกรัชวิภาแทน ส่วนแนวถนนรัชดาภิเษก ขาออก ให้เลี้ยวซ้ายไป 500 เมตร เพื่อกลับรถ แนวถนนรัชดาภิเษกขาเข้า ให้เลี้ยวซ้ายไปกลับรถหน้าเมเจอร์รัชโยธิน
และเพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรอันเนื่องมาจากการปิดรื้อสะพานรัชโยธินดังกล่าวให้น้อยที่สุด รฟม.ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับขยายช่องทางจราจรทางราบบนถนนรัชดาภิเษกบริเวณสี่แยกรัชโยธิน ทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก เพิ่มอีก 1 ช่องทาง รวมเป็น 3 ช่องทาง และทำช่องกลับรถเพิ่มในถนนรัชดาภิเษกฝั่งศาลอาญา ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของทางราบให้สามารถรองรับจำนวนรถยนต์ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ รฟม.ยังได้ประชาสัมพันธ์เส้นทางเลี่ยงให้แก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับทราบล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าสู่พื้นที่ก่อสร้างบริเวณสี่แยกรัชโยธิน 5 เส้นทาง ดังนี้
• เส้นทางที่ 1 : ใช้ทางเลี่ยงเข้าสู่ซอยพหลโยธิน 21 ออกไปยังซอยวิภาวดี 30
• เส้นทางที่ 2 : ใช้ทางเลี่ยงเข้าสู่ซอยพหลโยธิน 23 ออกไปยังซอยวิภาวดี 32
• เส้นทางที่ 3 : ใช้ทางเลี่ยงเข้าสู่ซอยรัชดาภิเษก 46 ออกไปยังซอยพหลโยธิน 33
• เส้นทางที่ 4 : ใช้ทางเลี่ยงเข้าสู่ซอยรัชดาภิเษก 48 และ 46/1 ออกไปยังซอยพหลโยธิน 35
• เส้นทางที่ 5 : ใช้ทางเลี่ยงเข้าสู่ซอยพหลโยธิน 30 ออกไปยังซอยรัชดาภิเษก 36, 32, 30
อย่างไรก็ตาม สำหรับพนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ มีพนักงานประมาณ 7,000 คน ซึ่งได้มีการประชาสัมพันธ์ให้พนักงานรับทราบถึงแผนการปิดจราจร และจัดรถรับส่งพนักงานเพิ่มไปยังสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีเขียว เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว
ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างการปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร และ รฟม. จะมีการประเมินผลและปรับแผนการจัดการจราจรให้เหมาะสมก่อนที่จะมีการรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธิน โดยจะให้มีผลกระทบในการเดินทางของประชาชนให้น้อยที่สุด และ รฟม.จะแจ้งข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถติดตามข้อมูลแนะนำเส้นทางเลี่ยงช่วงก่อนเข้าพื้นที่ก่อสร้าง ขาเข้าและขาออก รวมถึงข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center 0-2115-6000 (24 ชม.) และ 0-2716-4044