กรมทางหลวง-กรมทางหลวงชนบทตรวจจับรถบรรทุกน้ำหนักเกินตามนโยบายเข้มข้น ทล.เผยผลเดือน พ.ย. 59 จับกุมได้ 316 คัน พบส่วนใหญ่เป็นรถที่บรรทุกหินดินทราย สินค้าทางเกษตร และวัสดุก่อสร้างในพื้นที่นครสวรรค์ สระบุรี โคราช ด้าน ทช.กำหนดแผน 3 ระยะ ตรวจจับเข้มข้น, สร้างด่านในพื้นที่รถบรรทุกหนาแน่น และเพิ่มบทลงโทษเอาผิดถึงผู้ว่าจ้าง เจ้าของ, ปรับอัตราก้าวหน้า, ร่วมจ่ายค่าซ่อมถนน
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบรถบรรทุกที่ขนส่งสินค้าน้ำหนักเกินกำหนดทั่วประเทศ ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงการมอบหมายจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก บูรณาการร่วมมือกับจังหวัด กระทรวงมหาดไทย ทหาร และตำรวจ เพื่อดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดในการจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักยานพาหนะ ไม่ให้มีรถบรรทุกน้ำหนักเกินในพื้นที่ของประเทศ เพื่อลดความเสียหายของถนนและลดการเกิดอุบัติเหตุนั้น
ปรากฏว่าในเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา กรมทางหลวงโดยสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะสามารถจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ 316 คัน โดยส่วนใหญ่เป็นรถที่บรรทุกสินค้าประเภทหินดินทราย สินค้าทางการเกษตร และวัสดุก่อสร้าง สำหรับพื้นที่ที่ทำการจับกุมได้มากที่สุด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดสระบุรี และจังหวัดนครราชสีมา
ทั้งนี้ กรมทางหลวงมีนโยบายที่จริงจังและเข้มงวดในเรื่องดังกล่าว ได้สั่งการให้สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง และตำรวจทางหลวง ทำงานร่วมกัน นอกจากเป็นการทำตามนโยบายรัฐบาลแล้ว เรื่องดังกล่าวยังเป็นไปตามนโยบายของกรมทางหลวงด้วย ทั้งในเรื่องปรับปรุงเครือข่ายด่านชั่งน้ำหนักถาวร และด่านชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ทั่วประเทศ โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดไม่มีการผ่อนผันให้ผู้ประกอบการในการบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งจะส่งผลให้ลดงบประมาณในการซ่อมบำรุงรักษาทางและลดความเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดกับโครงสร้างสะพานและทางลอด นอกจากนี้ หากพบเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินก็พร้อมที่จะลงโทษทั้งวินัยและอาญา
ด้านนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทบ.) กล่าวว่า ในส่วนของกรมทางหลวงชนบทจึงได้กำหนดมาตรการในการดำเนินงานเข้มงวดรถบรรทุกน้ำหนักเกินทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1. ระยะสั้น จัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่แบบบูรณาการกับหน่วยงานภายนอก เช่น กรมทางหลวง ทหาร ตำรวจ กรมการขนส่งทางบก และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ปรับเพิ่มแผนการดำเนินงาน เน้นการทำงานเชิงรุกในสายทางที่มีความเสี่ยงในการบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด เข้มงวดให้การควบคุม กำกับน้ำหนักบรรทุกให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเพิ่มปริมาณความถี่ในการตั้งด่านชั่งน้ำหนัก
ปรับแผนเน้นเข้าดำเนินการกำกับควบคุมน้ำหนักบรรทุกในสายทางที่มีความเสี่ยงที่จะมีการบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด เช่น สายทางที่มีแหล่งวัสดุก่อสร้าง โรงงานน้ำตาล ผลผลิตทางการเกษตร และสินค้าอื่นๆ อยู่ในสายทาง เพื่อเป็นการควบคุมน้ำหนักบรรทุกจากต้นทาง, เคร่งครัดตามนโยบายรัฐบาล โดยควบคุมและไม่อนุญาตให้รถบรรทุกน้ำหนักเกิน และไม่อนุญาตให้มีการผ่อนผันเรื่องน้ำหนักรถบรรทุกอ้อย ซึ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนจะเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร ตลอดจนการควบคุมพื้นที่ชายแดนที่มีความเสี่ยงจะบรรทุกน้ำหนักเกิน เช่น ด่านแม่สอด จ.ตาก ด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ด่านเชียงของ จ.เชียงราย และด่านมุกดาหาร จ.มุกดาหาร
ระยะกลาง ได้กำหนดแผนในการก่อสร้างสถานีด่านชั่งน้ำหนักยานพาหนะ ในพื้นที่สายทางที่มีปริมาณรถบรรทุกสูง ถนนสายหลัก โดยวิเคราะห์ความเหมาะสมจากปัจจัยทางด้านวิศวกรรม และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่กรมทางหลวงชนบทใช้เพื่อกำกับป้องปรามรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน
ระยะยาว กรมฯ จะประสานกับกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง เพื่อที่จะเสนอแนวคิดให้มีการแก้ปัญหาควบคุมน้ำหนักบรรทุกให้มีประสิทธิภาพ และมีบทลงโทษรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น ผลจากการกระทำความผิด ต้องรวมถึงผู้จ้างวาน/เจ้าของกิจการ, มีการปรับเป็นอัตราก้าวหน้า เช่น ครั้งที่ 1 ปรับ 20% ของมูลค่ารถที่ทำความผิด ครั้งที่ 2 ปรับ 50% ของมูลค่ารถที่ทำความผิด ครั้งที่ 3 ให้ทำการยึดพาหนะให้เป็นทรัพย์สินของราชการสามารถนำมาขายทอดตลาดเพื่อนำมาชดเชยค่าซ่อมบำรุง, ผู้กระทำความผิดต้องมีส่วนรับผิดชอบในการซ่อมฟื้นคืนสภาพให้แก่ถนน แม้ถนนจะอยู่ระหว่างค้ำประกันสัญญา, สามารถดำเนินการทางกฎหมายกับยานพาหนะที่ขัดขืนไม่เข้าชั่งให้ถือเป็นกรณีแสดงเจตนากระทำความผิด เป็นต้น