xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางบุกพบ”บิ๊กตู่” ค้านแก้ปัญหาขายต่ำกว่าทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ค้านนโยบายระบายยางในสต๊อก 2.1 แสนตันแก้ปัญหาราคาตกต่ำ ยันซ้ำเติมให้ดิ่งเหวอีก เพราะอยู่ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก จับมือ 4 องค์กรยื่นหนังสือจี้ชะลอระบายสต็อก-แก้ปัญหาปัจจัยการผลิตก่อน ด้านประธานเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ เสนอเปลี่ยนตัวปลัดกระทรวงเกษตรฯ เหตุฮั้วพ่อค้าคนกลางกดราคา หากคสช.ยังนิ่งเฉยอาจมีชุมนุมปิดถนน

วานนี้(25 ส.ค.) นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เปิดเผยว่า วันที่ 26 สิงหาคม สมาคมจะร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สภาการยางพาราแห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์เกษตรอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมเครือข่ายเกษตรกรสถาบันเกษตรกรยางพาราไทย จะยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และผู้บัญชาการทหารบก ผ่านทางจังหวัดพร้อมกันทั้ง 63 จังหวัดที่ปลูกยางพารา เพื่อให้แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ชะลอการระบายสต็อกยาง และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องปัจจัยการผลิต ซึ่งในส่วนของการลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะการพัฒนาพันธุ์ยางพารา เพราะปัจจุบันผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่พัฒนาพันธุ์ยางพาราค่อนข้างรวดเร็ว

"สมาคมไม่เห็นด้วยกับการที่พล.อ.ประยุทธ์มีนโยบายแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ด้วยการเร่งระบายยางพาราในสต็อก 2.1 แสนตัน ที่องค์การคลังสินค้า(อคส.)รับซื้อกิโลกรัมละ 100 บาท ด้วยการขายราคาต่ำกว่าทุน เพราะหากระบายตอนนี้ ยิ่งทำให้ราคาตกต่ำลงไปอีก"

นายบุญส่ง กล่าวว่า ขณะนี้ราคายางพาราอยู่ในช่วงขาลง หากระบายออกมาขณะที่ยางในพื้นที่กำลังเปิดกรีด และให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น คาดว่าในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ราคาจะดิ่งลงไปอีก ซึ่งเป็นการซ้ำเติมเกษตรกร เพราะล่าสุดราคายางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ตลาดกลางหาดใหญ่ อยู่ที่กิโลกรัมละ 48 บาทเท่านั้น

ส่วนการนำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆนั้น เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้เรียกร้องมาโดยตลอด และปัจจัยที่จะทำมีการใช้ยางในประเทศมากนั้น คือ การนำยางพาราไปผสมกับแอสฟัลท์ติกเพื่อทำถนน ซึ่งประเทศไทยสร้างและซ่อมถนนปีละประมาณ 60,000 กิโลเมตร ใช้ยางได้ถึง 300,000 ตัน นอกจากนี้ยังสามารถทำสนามฟุตซอล แบดมินตัน บล๊อกตัวหนอนปูทางเท้า เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ระบายยางได้ปริมาณมาก และสามารถส่งออกได้ในอนาคต

นายศักดิ์สฤษดิ์ ศรีประศาสตร์ ประธานองค์กรภาคีเครือข่ายชาวสวนยางรายย่อยภาคใต้ กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายได้ยื่นหนังสือที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อเรียกร้องไม่ให้คสช.ขายยาง 2.1 แสนตันให้กับพ่อค้าคนกลาง ซึ่งขณะนี้องค์กรภาคีเครือข่ายกำลังรณรงค์ให้เกษตรกรหยุดกรีดยางหรือหยุดขายยางไม่น้อยกว่า 6 เดือน และหารือเรื่องการกำหนดเวลา ว่าจะเริ่มช่วงไหน โดยจะมีมาตรการออกมาเร็วๆนี้ เพื่อไม่ให้พ่อค้าคนกลางเอาเปรียบเกษตรกรอีกต่อไป ดังนั้นคสช.อย่าตกเป็นเครื่องมือพ่อค้าคนกลาง

"องค์กรภาคีเครือข่ายขอเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทันที เพราะคนปัจจุบันทำให้ชาวสาวยางเดือดร้อนมาตลอด หากไม่เปลี่ยนตัว คนกลุ่มนี้อาจไปร่วมมือกับพ่อค้าคนกลาง ทำให้ราคายางดิ่งลงเรื่อยๆจนต่ำกว่า 50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่กว่า 60 บาท จึบขอให้คสช.ให้ความสำคัญ เพราะยางพืชพิเศษกว่าพืชอื่น ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นความเหลื่อมล้ำของคนในภูมิภาค แล้วจะโยงไปเป็นปัญหาอื่นตามมา"

นายศักดิ์สฤษดิ์ กล่าวว่า คสช.ช่วยเหลือชาวนาโดยใช้เวลาแค่เดือนเดียวได้รับเงินถึง 1 แสนล้านบาท แต่ชาวสวนยางบอกว่าจะช่วย 6,000 ล้านบาท แต่ผ่านมา 3 เดือนแล้วยังไม่ได้รับ ถือเป็นความเหลื่อมล้ำ ส่วนเรื่องการชุมนุมบนถนนนั้นยืนยันว่าไม่มี แต่จะรวมตัวกันบ้างในที่สาธารณะ ที่ไม่ผิดกฎหมาย และไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง เพราะแค่ต้องการให้คสช. รัฐบาล และพล.อ.ประยุทธ์ เห็นความสำคัญและความเดือดร้อนของชาวสวนยาง เพราะหากเดือดร้อนมากก็จะไม่กลัว และสุดท้ายอาจจะออกมาชุมนุมหรือปิดถนนอีก

ด้านนายสุวิทย์ ใหม่ธิ ประธานเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา จ.เชียงราย กล่าวว่า วันที่ 26 สิงหาคม เครือข่ายจะประชุมหารือปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และนำเสนอต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดในวันเดียวกัน เพราะทุกวันนี้ชาวเชียงรายปลูกยางพาราประมาณ 50,000 ราย พื้นที่ประมาณ 500,000 ไร่ เปิดกรีดได้แล้ว 200,000 ไร่ แต่ช่วงนี้ราคาตกต่ำอย่างหนัก โดยยางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 อ้างอิงราคาตลาดกลางอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เหลือกิโลกรัมละประมาณ 51 บาท ส่วนยางก้อนกิโลกรัมละ 20-25 บาท ซึ่งชาวสวนยางเชียงรายคงจะเดือดร้อนกว่าที่อื่น เพราะเพิ่งกรีดยางกัน ทำให้มีต้นทุนสะสมหลายปี ต้องใช้เวลาประมาณ 8 ปีจึงจะคืนทุน ดังนั้นต้นทุนที่แท้จริงจึงไม่น่าจะต่ำกว่ากิโลกรัมละ 80 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น