เปิดแผนเดินเรือเฟอร์รีเส้นทาง “พัทยา-หัวหิน” เตรียมทดลองและเปิดให้นั่งฟรีก่อนช่วงปลายเดือน ธ.ค. 59 เปิดบริการอย่างเป็นทางการ 1 ม.ค. 60 ขณะที่เอกชนเสนอค่าโดยสาร 1,200 บาท/คน โดยใช้ “ท่าเรือแหลมบาลีฮาย-ท่าสะพานปลาหัวหิน” ด้าน “อธิบดีกรมเจ้าท่า” เผยต้องพิจารณาต้นทุนจริงก่อนเคาะราคาที่เป็นธรรมกับผู้โดยสาร ให้ใบอนุญาตอายุยาว 10 ปี คุ้มครองลงทุนห้ามมีรายใหม่แข่งขัน ประเมินมาตรฐานบริการทุกเดือนในช่วง 6 เดือนแรก
นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการให้บริการเดินเรือเฟอร์รี เส้นทาง “พัทยา-หัวหิน” ว่า ตามแผนจะมีการเปิดเดินเรืออย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2560 โดยก่อนหน้านั้นประมาณกลางเดือนธันวาคม 2559 จะมีการทดลองเดินเรือ (Test Run) ประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อความมั่นใจในระบบความปลอดภัยและความพร้อมของเรือและท่าเรือทั้งหมด จากนั้นอาจจะมีการเปิดเดินเรืออย่างไม่เป็นทางการ ในรูปแบบให้ใช้บริการหรือทดลองนั่งฟรี ประมาณ 2-3 วัน โดยกำหนดตารางให้บริการ 2 เที่ยว/วัน เที่ยวแรกออกจากหัวหิน เวลา 08.30 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.30 ชม. เที่ยวกลับออกจากพัทยาเวลา 15.30 น. โดยช่วงแรกจะมีเรือบริการ 1 ลำ แต่หากตลาดตอบรับดีบริษัทฯ จะเพิ่มเรือลำที่ 2 เข้ามาช่วงเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งจะสามารถเพิ่มความถี่ได้มากขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เสนอขอจัดเก็บค่าโดยสารอัตรา 1,200 บาทต่อคนต่อเที่ยว ซึ่งกรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างตรวจสอบต้นทุน จากนั้นจะพิจารณาเพื่อประกาศอัตราค่าโดยสารอย่างเป็นทางการก่อนวันที่ 1 มกราคม 2560 โดยบริษัท รอยัล พาสเสนเจอร์ ไลเนอร์ จำกัด ผู้ยื่นข้อเสนอเดินเรือเฟอร์รี “พัทยา-หัวหิน” เป็นผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมอยู่ที่พัทยา ซึ่งบริษัทฯ ได้เสนอแผนธุรกิจในการดำเนินงาน โดยระบุว่ากลุ่มลูกค้าหลักของเรือเฟอร์รีจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่เข้าพักโรงแรม โดยจะมีการทำโปรแกรมท่องเที่ยว ซึ่งประเมินว่าจะมีลูกค้าจากโปรแกรมทัวร์เป็นผู้โดยสารเรือสัดส่วนประมาณ 70% และผู้โดยสารทั่วไปประมาณ 30% ซึ่งการมีฐานลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจมีความเป็นไปได้
โดยขณะนี้กรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างตรวจสอบสิทธิ์และเอกสารเพื่อออกใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัท รอยัล พาสเสนเจอร์ ไลเนอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอทำการเดินเรือเส้นทางดังกล่าวอยู่ระหว่างปรับปรุงเรือเก่าให้มีระบบ และสิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ ตามมาตรฐานการให้บริการ คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ จากนั้นจะต้องนำเรือมาจดทะเบียนเป็นเรือไทย ซึ่งตามขั้นตอนกรมเจ้าท่าจะต้องตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐานของเรือ เพื่ออกทะเบียนเรือ ออกใบอนุญาตใช้เรือ ส่วนคนขับเรือ และคนประจำเรือ จะต้องได้ประกาศนียบัตรไทยทั้งหมด
โดยกรมเจ้าท่าจะออกใบอนุญาตให้เรือกลประจำทางในการขนส่งผู้โดยสารหรือสินค้าในเส้นทางฝั่งตะวันออก (พัทยา-สัตหีบ) ฝั่งตะวันตก (ชะอำ-หัวหิน-ปราณบุรี) อายุ 10 ปี โดยจะมีการประเมินผลมาตรฐานการให้บริการในช่วง 6 เดือนแรก ทุกเดือน จากนั้นจะประเมินทุกๆ 6 เดือน และในปีที่ 3 จะประเมินทุกๆ ปี
สำหรับท่าเทียบเรือนั้น นายศรศักดิ์กล่าวว่า ฝั่งพัทยาจะใช้ท่าเรือแหลมบาลีฮาย ในช่วงแรกอาจจะมีความแออัดบ้าง ซึ่งเทศบาลเมืองพัทยาอยู่ระหว่างขออนุญาตกรมเจ้าท่าในการก่อสร้างท่าเรือใหม่เพิ่มเติม ซึ่งจะออกแบบรองรับเรือท่องเที่ยวให้มีความสะดวกมากขึ้น โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 1 ส่วนฝั่งหัวหิน จะใช้ท่าเรือองค์การสะพานปลา อำเภอหัวหิน ซึ่งปัจจุบันเป็นท่าเรือประมง โดยเมื่อ 1 ปีก่อนได้มีการปรับปรุงใหม่ มีอาคารที่พัก ร้านอาหาร รองรับได้หลายร้อยคน สามารถแบ่งพื้นที่สำหรับให้บริการผู้โดยสารเรือเฟอร์รีได้
“กรมเจ้าท่าจะควบคุมค่าโดยสารให้เป็นธรรมต่อประชาชน รวมถึงควบคุมคุณภาพบริการและความปลอดภัยให้เป็นไปตามมาตรฐาน และควบคุมไม่ให้มีคู่แข่ง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ลงทุนสูง เรือ 1 ลำลงทุนประมาณ 40 ล้านบาท แต่หากในอนาคตมีผู้โดยสารเป็นจำนวนมากจึงจะพิจารณาความเหมาะสมต่อไป”
สำหรับเรือเฟอร์รี “พัทยา-หัวหิน” มีระยะทาง 113 กม. โดยช่วงแรกบริษัทฯ จะใช้เรือ Catamaran Ferry สำหรับบรรทุกผู้โดยสาร จำนวน 1 ลำ ความเร็ว 27 นอต บรรทุกผู้โดยสารสูงสุด 150 คน ให้บริการ 2 เที่ยว/วัน และมีแผนเพิ่มเรืออีก 1 ลำบรรทุกผู้โดยสารได้สูงสุด 260 คน