“คมนาคม” ตื่นจัดระเบียบเรือแสนแสบ สั่งเข้ม พนักงานกรมเจ้าท่า-คนขับเรือ-คนประจำเรือ ต้องจอดเรือสนิทก่อนปล่อยผู้โดยสารขึ้น-ลง ฝ่าฝืนปรับทันที ผิดซ้ำซากโทษหนัก พักและถอนใบอนุญาต พร้อมสั่งเอกชนปรับปรุงเรือกำหนดทางขึ้นลง 1 ช่องทาง ทดลองให้บริการ 2 ลำเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่ 15 ธ.ค. 59 - 15 ม.ค. 60 เพื่อประเมินความคล่องตัวและระยะเวลาในการขึ้น-ลงเหตุ กายภาพท่าเรือแคบ ไม่มีพื้นที่หลังท่า พร้อมเล็งปรับใช้แบตเตอรี่แทนดีเซล
จากกรณีเกิดอุบัติเหตุผู้โดยสารพลัดตกจากเรือคลองแสนแสบ และเสียชีวิต ขณะเรือกำลังเทียบท่า ที่ท่าเรือนานาชาติ ซอยสุขุมวิท 15 (ซอยร่วมใจ) เมื่อวันที่ 10 พ.ย.นั้น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวย้ำถึงมาตรการของกรมเจ้าท่าในการดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารระยะเร่งด่วนซึ่งจะเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลของเจ้าหน้าที่ เจ้าของท่าเรือ และผู้ประกอบการ โดยจะมีการติดตั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยที่ท่าเรือให้ครบถ้วน เช่น CCTV และในระยะต่อไป กรมเจ้าท่าจะต้องเสนอแผนการกำกับดูแลมาตรการด้านความปลอดภัยที่เป็นระบบที่ชัดเจน เช่น การแยกจัดเก็บค่าโดยสารก่อนลงเรือ ซึ่งยอมรับว่าท่าเรือในคลองแสนแสบซึ่งส่วนใหญ่เป็นของ กทม.นั้นไม่มีพื้นที่หลังท่า ในการจัดทำที่พักและที่จำหน่ายตั๋วซึ่งจะหารือกับ กทม.เพื่อพิจารณามาตรการร่วมกันต่อไป
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า มาตรการล่าสุดที่ได้ให้ทางกรมเจ้าท่าได้เร่งดำเนินการ คือ การจอดเรือต้องเทียบท่าให้สนิทก่อนคนประจำเรือนำเชือกคล้องกับหลักบนท่าเรียบร้อยก่อนจึงจะให้ผู้โดยสารให้ขึ้น-ลงเรือได้ หากมีการปล่อยปละละเลยจะลงโทษทางวินัยกับพนักงานของกรมเจ้าท่าที่ประจำอยู่ในทุกท่าเรือ นอกจากนั้นจะลงโทษทั้งคนขับเรือ และคนประจำเรือด้วย โดยจะตัดเรื่องการภาคทัณฑ์ออกไป เนื่องจากได้มีการพูดคุยกันก่อนแล้ว จะเป็นการลงโทษในขั้นการปรับ และหากเกิดซ้ำ จะเป็นการพักใช้ใบอนุญาต และสุดท้ายคือการยึดใบอนุญาต ซึ่งจะต้องขอความร่วมมือประชาชนในการปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานเจ้าท่า และคนประจำเรือ
นอกจากนี้ ได้สั่งการเรื่องการจัดระเบียบการเดินเรือและให้บริการในคลองแสนแสบใหม่ ซึ่งขณะนี้ ทางบริษัท ครอบครัวขนส่ง 2002 จำกัด ผู้ให้บริการเดินเรือในคลองแสนแสบ อยู่ระหว่างปรับปรุงตัวเรือ 2 ลำ ใหม่ ให้มีทางขึ้น 1 ทาง ทางลง 1 ทาง โดยทำทางเดินตรงกลางลำเรือ ซึ่งต่างจากเรือในปัจจุบันที่มีที่นั่งขวางกลางลำเรือ โดยสามารถขึ้นลงได้ทุกจุดของเรือ ซึ่งควบคุมผู้โดยสารไม่ได้ โดยจะเริ่มนำมาให้บริการในวันที 15 ธ.ค. 2559 - 15 ม.ค. 2560 ระยะเวลาทดลอง ประมาณ 1 เดือน เพื่อประเมินในเรื่องของความคล่องตัว ระยะเวลาในการการเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารขึ้นลงเรือ เนื่องจากกายภาพของท่าเรือและคลองแสนแสบมีจำกัดทำให้ไม่คล่องตัว หากใช้ระบบการขึ้นลงเรือแบบเดียวกับเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา
นอกจากนี้ ได้ให้นำเรือที่ใช้แบตเตอรี่มาใช้ในคลองแสนแสบแทนเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลซึ่งมีเสียงดังและมีควันดำจากไอเสียจำนวนมากขณะเทียบท่า เป็นมลพิษต่อผู้โดยสาร ซึ่งสามารถจะต้องทยอยปรับเปลี่ยนได้
อย่างไรก็ตาม การเดินเรือในคลองแสนแสบนั้นไม่ใช่การให้สัมปทาน ผู้ประกอบการในปัจจุบันได้ขออนุญาตเดินเรือ กับกรมเจ้าท่า และขออนุญาตใช้ท่าเรือ จากกรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงจะสามารถให้บริการได้ ซึ่งมาตรฐานการให้บริการ มีกำหนดไว้ แต่เมื่อมีเหตุการณ์จะต้องเพิ่มความเข้มงวด ซึ่งต้องเข้าใจกายภาพของคลองแสนแสบที่มีจำกัด การจะเปิดให้มีผู้เดินเรือหลายราย อาจจะยิ่งมีปัญหา และในข้อเท็จจริงยังไม่มีเอกชนรายอื่นมายื่นขออนุญาตเดินเรือ