บอร์ด รฟม.เห็นชอบเปิดประมูลงานพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง (คลองบางไผ่-เตาปูน) เหตุมีความโปร่งใสกว่าเลือกวิธีเจรจา BEM แม้ว่าจะใช้เวลามากกว่า 6-8 เดือน สั่ง รฟม.เร่งประเมินมูลค่าโครงการ และดูขั้นตอนใน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 อย่างละเอียด พร้อมอนุมัติแผนวิสาหกิจปี 60-64 เร่งสร้างรถไฟฟ้าให้ครบโครงข่ายตามแผนเพื่อเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ที่มี พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ได้เห็นชอบในหลักการให้ รฟม.เปิดประกวดราคางานพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง (คลองบางไผ่-เตาปูน) จำนวน 16 สถานี เห็นว่าการเปิดประกวดราคาจะมีความโปร่งใสมากกว่าวิธีเจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการเดินรถสายสีม่วง โดยให้ทบทวนเรื่องขั้นตอนการดำเนินงานที่รวดเร็วที่สุด โดยให้พิจารณาแนวทางและเสนอให้บอร์ดพิจารณาโดยเร็ว
กรณีที่บอร์ดไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีเจรจากับ BEM เป็นเรื่องความโปร่งใส และกังวลประเด็นข้อกฎหมาย ขณะที่ระยะเวลาระหว่างการประกวดราคาอาจจะมากกว่าการเจรจา 6-8 เดือน โดยให้พิจารณาแนวทางที่สามารถเร่งรัดขั้นตอนได้ ซึ่งจะมีการศึกษารายละเอียด เช่น มูลค่าโครงการจะเข้าข่ายโครงการร่วมลงทุนขนาดเล็ก ประมาณ 1,000 ล้านบาท ขนาดกลาง 5,000 ล้านบาท หรือขนาดใหญ่ เกิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งการประเมินมูลค่าจะอยู่ที่ทรัพย์สินหรือพื้นที่ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการมีมูลค่าเท่าใด โดยจะเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งมีเกณฑ์ของ สคร.ในการพิจารณาขนาดโครงการจะมีผลต่อระยะเวลาในการดำเนินงาน เพราะหากขนาดเล็กไม่ถึง 5,000 ล้านบาทสามารถเสนอ รมว.คมนาคมอนุมัติได้ คาดว่าจะเสนอบอร์ด รฟม.ได้อีกครั้งประมาณต้นปี 2560
“เดิมมีแนวคิดจะเจรจากับ BEM เพราะมีความสะดวกในการพัฒนา ซึ่งเป็นพื้นที่เกี่ยวเนื่องกับที่ BEM ให้บริการเดินรถ ดังนั้นหากเป็นเอกชนรายอื่นจะเกิดความไม่สะดวกในการใช้พื้นที่ แต่บอร์ดเห็นว่าควรหลีกเลี่ยงประเด็นที่อาจถูกมองว่าเอื้อเอกชน”
นอกจากนี้ ที่ประชุมอนุมัติแผนวิสาหกิจปี 2560-2564 เป้าหมายในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นเป้าหมาย วิสัยทัศน์ อย่างไร ซึ่งหลังจากนี้จะเสนอไปยัง สคร.ต่อไป โดยเป้าหมายจะต้องดำเนินโครงการรถไฟฟ้าให้ได้ตามแผน แผนงานเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร การเพิ่มรายได้ และการทำให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าในบางสายจำนวนผู้โดยสารยังไม่เป็นไปตามแผน จะต้องหาแผน และแนวทาง ซึ่งประเด็นที่สำคัญคือ ความสมบูรณ์ของโครงข่ายรถไฟฟ้าแล้วเสร็จเมื่อใด จะมีส่วนทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น โดยตามแผนงานภายในปี 2564 จะสามารถเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) สีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) ส่วนที่เหลือจะเริ่มเปิดช่วงปี 2565 เช่นสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) จะก่อสร้างประมาณ 5 ปี
นอกจากนี้ ในปี 2560 จะเป็นปีที่หลายโครงการได้เริ่มต้น เช่น สายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) สายสีน้ำเงินต่อขยาย (บางแค-พุทธมณฑลสาย 4) ส่วนต่อขยายสีเขียว (คูคต-ลำลูกกา) และสีเขียว (สมุทรปราการ-บางปู) รวมไปถึงระบบขนส่งในภูมิภาค ที่จังหวัดภูเก็ตจะได้เริ่มทำการศึกษา ออกแบบรายละเอียด และปี 2561 จะสามารถขออนุมัติโครงการได้
“แผนรายได้ของ รฟม.มี 2 ส่วน คือ 1. รายได้จากค่าโดยสาร ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายที่เคยประมาณการไว้ เช่น สายสีน้ำเงิน ซึ่งได้จากส่วนแบ่งค่าโดยสารเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ยเกือบ 3 แสนคน/วัน หากสามารถเปิดเดินรถส่วนต่อขยายในปลายปี 2563 หรือต้นปี 2563 จำนวนผู้โดยสารจะขึ้นมาอยู่ที่ 5-6 แสนคน/วัน ส่วนสายสีม่วงยังต่ำกว่าเป้าหมาย โดยมีหลายปัจจัย ทั้งเรื่องการเติบโตของประชากรในจังหวัดนนทบุรี อีกทั้งรูปแบบของสายสีม่วงเป็นฟีดเดอร์ แต่โครงข่ายยังไม่ครบถ้วนโดยเฉพาะสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และ 2. รายได้จากเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีประมาณ 150 ล้านบาทต่อปี คาดว่าจะเติบโตประมาณ 5% ต่อปี”