xs
xsm
sm
md
lg

กรุงเทพฯ ใกล้มีสินค้าจีไอแล้ว! “พาณิชย์” เตรียมขึ้นทะเบียน “ส้มบางมด-ลิ้นจี่บางขุนเทียน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรุงเทพมหานครใกล้มี “สินค้าจีไอ” แล้ว พาณิชย์เผยล่าสุดเตรียมรับจดส้มบางมด และลิ้นจี่บางขุนเทียน ส่วนยอดจดสินค้าจีไอทั้งประเทศ มีทั้งสิ้น 71 รายการ จาก 51 จังหวัด

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายในการผลักดันทุกจังหวัดของประเทศ มีการจดทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ภายใต้โครงการ 1 จังหวัด 1 จีไอ โดยล่าสุดมีสินค้าของจังหวัดกรุงเทพฯ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาขึ้นทะเบียนจีไอ 2 รายการ คือ ส้มบางมด และลิ้นจี่บางขุนเทียน หากได้รับการจดทะเบียนก็จะเป็นสินค้าจีไอรายการแรกของกรุงเทพฯ ที่มีการจดทะเบียนเป็นสินค้าจีไอ

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีสินค้าของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าจีไอแล้วรวม 71 รายการ จาก 51 จังหวัดทั่วประเทศ และมีสินค้าจากต่างประเทศที่ขึ้นทะเบียนในไทย 12 รายการ จาก 7 ประเทศ ส่วนสินค้าจีไอไทยที่ไปขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ มี 6 รายการ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง ข้าวสังหยดเมืองพัทลุง จดทะเบียนที่สหภาพยุโรป เส้นไหมพื้นบ้านอีสาน จดทะเบียนที่เวียดนาม และผ้าไหมยกดอกลำพูน จดทะเบียนที่อินโดนีเซีย

สำหรับส้มบางมด ขึ้นชื่อว่าเป็นส้มที่มีรสชาติอร่อยที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย มีรสชาติที่หวานแหลมอร่อยไม่เหมือนส้มเขียวหวานทั่วไป ส้มบางมดแท้ๆ จะสังเกตได้จากผลจะกลมแป้น และผิวจะมีลายเหมือนสีหมากสุก ผิวจะมีสีเขียวอมเหลืองถึงเหลืองเข้ม ถ้าแก่จัดจะมีสีออกส้มแดง เปลือกจะบางนิ่ม ไม่แข็ง รสชาติจะหวานจัดอมเปรี้ยวเล็กๆ ถือเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นที่เหนือกว่าส้มเขียวหวานจากที่อื่นทั่วไป และแม้ว่าจะมีการนำกิ่งพันธุ์ส้มบางมดไปปลูกยังพื้นที่อื่นๆ กันมาก แต่ก็ไม่ได้รสชาติที่หวานเป็นเอกลักษณ์เหมือนส้มบางมด

ส่วนลิ้นจี่ย่านบางขุนเทียน มีรสชาติไม่เหมือนที่อื่น มีขนาดกลาง ไม่ใหญ่มาก ผิวสีแดงคล้ำออกไหม้ รสหวานเม็ดเล็กเรียกว่า “เม็ดตาย” เวลาแกะเปลือกออกจะมีเยื่อสีชมพูหุ้มเนื้อเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง เนื้อไม่ฉ่ำน้ำ พันธ์ลิ้นจี่ที่ว่านี้เรียกว่า “ใบยาว” รสชาติอร่อยกว่าพันธุ์อื่นและขายดีที่สุด ปัจจุบันสินค้าทั้ง 2 รายการนี้นิยมบริโภคในประเทศและมีปริมาณไม่มาก ราคาสูง รสชาติดีทำให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค หากส่งเสริมให้มีการปลูกมากขึ้นเชื่อว่าจะสามารถขยายช่องทางการตลาดได้ทั้งในประเทศและในประเทศเพื่อนบ้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น