xs
xsm
sm
md
lg

จับตาหนี้เสีย SMEs พุ่งหลังส่งออกไม่โต-แรงซื้อยังไม่ขยับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภาองค์การนายจ้างชี้สัญญาณ NPL แบงก์พุ่งสุดรอบ 5 ปี จับตาหนี้เสีย SMEs โตถึงต้นปี 2560 หลังส่งออกปีนี้ส่อเค้าติดลบสูงหรือหากโตก็ไม่มากพอ ขณะที่แรงซื้อในประเทศยังมีแต่ปัจจัยลบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะ “ข้าว” ขณะที่การขยายลงทุนใหม่ๆ ของภาคเอกชนซึมยาว

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า มีแนวโน้มว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในภาคธุรกิจยังคงขยายตัวต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2560 โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เนื่องจากขณะนี้สภาพคล่อง SMEs ตึงมากเพราะยอดขายทั้งการส่งออกที่ปี 2559 ภาพรวมติดลบหรืออาจโต 0% ขณะที่แรงซื้อภายในประเทศทิศทางยังคงซึมยาวด้วยหลายปัจจัยโดยเฉพาะปัจจัยจากราคาข้าวที่ตกต่ำซึ่งจะกระทบเป็นห่วงโซ่ต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตอื่นๆ

“ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงาน NPL ภาคธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 สูงสุดรอบ 5 ปี และมองว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่แบงก์เองถือว่ามีความระมัดระวังปล่อยกู้มากแล้ว NPL ยังสูงมาก แต่ไม่มีใครพูดถึง NPL ในภาคธุรกิจที่กำลังเป็นปัญหาโดยเฉพาะ SMEs และเมื่อถึงสิ้นปีแบงก์จะมาดูสินเชื่อต่างๆ โดยเฉพาะเงินกู้เบิกเกินบัญชี (OD) คาดว่า NPL ธุรกิจจะโตถึงต้นปีหน้าเพราะสัญญาณค่อนข้างชัดเจนในวงการค้ามีการขยายเครดิตจาก 30-90 วันเป็น 90-120 วัน และบางส่วนเริ่มชักดาบมีการฟ้องร้องแล้ว” นายธนิตกล่าว

ปัจจุบันธุรกิจ SMEs ได้รับผลกระทบจากภาวะส่งออกของไทยปี 2558 ที่มองว่ายังมีโอกาสติดลบหรือโตระดับ 0% แม้ว่าจะติดลบต่ำกว่าที่ประเมินตอนแรกแต่อย่าลืมว่าปี2557 ส่งออกของไทยติดลบ 5% ซึ่งถือเป็นฐานที่ต่ำมากอยู่แล้ว ขณะเดียวกันแรงซื้อในช่วงไตรมาส 4 ไปจนถึงต้นปี 2560 คาดว่าจะยังทรงตัวหรือซึมต่อเนื่องด้วยปัญหาหลักจากรายได้เกษตรกรที่เป็นแรงซื้อขนาดใหญ่ยังไม่ฟื้นตัวและอาจตกต่ำลง โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขณะนี้ราคาข้าวตกต่ำมาก ขณะที่สินค้าเกษตรอื่นๆ ทั้งยางพารา มันสำปะหลัง ก็กระเตื้องเล็กน้อย มีเพียงอ้อยที่คาดว่าจะดีสุดเท่านั้น

นายธนิตกล่าวว่า ที่ผ่านมามาตรการของรัฐบาลเริ่มปรับตัวดีขึ้นในการกระตุ้นแรงซื้อด้วยการหามาตรการช่วยเหลือชาวนา โครงการกู้ยืมเงินหมู่บ้าน ฯลฯ เนื่องจากที่ผ่านมาอาจเกรงว่าจะเป็นการประชานิยมซึ่งเห็นว่าการดำเนินงานในบางเรื่องมีความจำเป็นโดยสามารถทำเป็นนโยบายประชารัฐได้ และปัญหาข้าวที่แท้จริงเพราะภาวะล้นตลาดจึงต้องหาวิธีแก้ไขระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น