สภาองค์การนายจ้างฯ แย้มปีนี้ธุรกิจส่วนใหญ่ 70% ยังจ่ายโบนัสเฉลี่ย 1 เดือน มากน้อยต้องไปลุ้นแต่ละธุรกิจเพราะความสามารถทำกำไรต่างกัน ขณะที่การจ้างงานใหม่ปี 2560 ช่วงต้นปียังทรงตัวรอทิศทาง จับตาแรงงานจดทะเบียนต่างด้าวลดลงคาดถูกปลดออกช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้การขึ้นค่าจ้างเฉลี่ยขึ้น 2-3% เท่านั้นรับได้ไม่มีนัยสำคัญให้ต้องขึ้นราคาสินค้า
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มการจ่ายเงินพิเศษ (โบนัส) ของห้าง ร้าน และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในช่วงสิ้นปี 2559 นั้นภาพรวมคาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2558 โดยการสำรวจเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการส่วนใหญ่ 70% ยังคงจะจ่ายโบนัส แต่จะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่แต่ละกิจการเนื่องจากผลกำไรย่อมต่างกันไป แต่ภาพรวมเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 1 เดือน
“ธุรกิจปีนี้ภาพรวมหลายอุตสาหกรรมก็ยังไปได้ดี แต่บางธุรกิจที่เน้นการส่งออกแม้ว่าภาพรวมส่งออกจะติดลบ แต่ในแง่ของมูลค่านั้นไม่ได้ติดลบมากนัก เฉลี่ยแล้วก็ใกล้เคียงกับปีก่อน เชื่อว่าธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงจ่ายโบนัสปกติที่เคยทำมาโดย มีเพียง 30% ที่จะไม่มีการจ่ายซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา” นายธนิตกล่าว
สำหรับการจ้างงานใหม่ในปี 2560 คาดว่าภาพรวมในช่วงต้นปีจะยังคงทรงตัวเพื่อรอสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกให้ชัดเจนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามขณะนี้ล่าสุด คือ ตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายของไทยนั้น ปกติที่ผ่านมาเฉลี่ยจะอยู่ในระดับ 1.4 ล้านคน แต่ล่าสุดกลับอยู่ที่เพียง 1.178 ล้านคน ตัวเลขที่หายไปกว่า 2 แสนคนนั้นคงต้องหาปัจจัยที่แท้จริงว่าเพราะเหตุใด เนื่องจากรัฐบาลเข้มงวดการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมาย ตัวเลขควรจะเพิ่มขึ้น แต่การลดลงก็อาจจะมองได้ว่าเป็นการปลดออกจากภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก
สำหรับกรณีที่รัฐบาลได้มีการแจ้งปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 69 จังหวัด มีผล ม.ค. 2560 โดย 7 จังหวัด จาก 69 จังหวัด ได้ปรับขึ้นค่าจ้าง 10 บาท เป็น 310 บาทต่อวัน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต ขณะที่ 13 จังหวัด ได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม 8 บาทต่อวัน เป็น 308 บาทต่อวัน เช่น ขอนเเก่น ปราจีนบุรี ชลบุรี และปรับขึ้น 5 บาท ใน 49 จังหวัด เช่น แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน ตาก และจังหวัดที่ไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมี 8 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา นั้นถือเป็นอัตราที่เอกชนยอมรับได้เพราะที่ผ่านมาต้องการให้มีความต่างกันไม่ใช่เท่ากันทั่วประเทศ
“ค่าจ้างดังกล่าวเฉลี่ยขึ้นไม่ถึง 3% มีเพียงเขต กทม.และปริมณฑลที่ขึ้น 3% ภาพรวมจึงถือว่ามีความเหมาะสมซึ่งคงไม่มีนัยสำคัญต่อการขึ้นราคาสินค้าแต่อย่างใด แต่สิ่งที่เอกชนวิตกขณะนี้ คือ ต่อไปจะมีการพิจารณาเรื่องของใบรับรองฝีมือแรงงานที่รัฐนำร่องกับช่างไฟฟ้าบ้านและอาคาร หากลูกจ้างมีใบรับรองฝีมือแรงงานจะต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่ม ซึ่งบางครั้งเอกชนเองก็ไม่ได้ต้องการทักษะเช่นนั้น และสำคัญมาตรฐานนั้นใครกำหนด เกรงว่าจะเหมือนกับใบขับขี่รถยนต์ที่ขับไม่เป็นแต่ได้ใบขับขี่” นายธนิตกล่าว