xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าจัดงานเทศกาลประเพณี-ศาสนา มุ่งรายได้ท่องเที่ยวเกินเป้า 2.4 ล้านล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ผู้จัดการรายวัน 360 - เจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยืนยันสนับสนุนทุกภาคส่วนจัด 9 กิจกรรมบันเทิงเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งเทศกาลลอยกระทง คริสต์มาส ปีใหม่ สงกรานต์ ตรุษจีน ย้ำต้องปรับรูปแบบงานตามหลักเกณฑ์มติ ครม. โดยงดความรื่นเริงและบันเทิง เผยปี 59 รายได้การท่องเที่ยวมากกว่า 2.48 ล้านบาท เกินเป้าที่ตั้งไว้ พร้อมเร่งสร้างการเติบโตต่อเนื่องเพราะมีปัจจัยบวกรอบด้าน

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งได้อนุมัติแนวทางการจัด 9 กิจกรรมบันเทิง หรือกิจกรรมต่างๆ หลังจากที่รัฐบาลได้ขอความร่วมมือให้มีการงดจัดเป็นเวลา 30 วันเพื่อแสดงความอาลัยถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั้น ในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการจัดกิจกรรมต่างๆ ด้านการท่องเที่ยวและกีฬาจึงจะยังคงดำเนินจัดกิจกรรมตามแผนงานที่กำหนดไว้เพียงแต่จะมีการปรับรูปแบบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมติ ครม. เพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป

จากมติ ครม. ดังกล่าว หน่วยงานต่างๆ จึงสามารถจัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนา และกีฬา โดยเฉพาะเทศกาลใหญ่ในช่วงปลายปี 2559 คือ เทศกาลลอยกระทง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะยังคงร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดงานประเพณีลอยกระทงตามสวนสาธารณะแต่ละแห่งในกรุงเทพฯ แต่จะไม่มีการประกวดนางนพมาศ รวมถึงจุดพลุไฟขนาดใหญ่ ยกเว้นการจัดขบวนแห่ตามประเพณีและการจุดดอกไม้ไฟไทยพื้นบ้าน ประเภทตะไล เป็นต้น

ส่วนเทศกาลคริสต์มาสซึ่งถือเป็นกิจกรรมทางศาสนานั้น หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังสามารถตกแต่งประดับไฟต้นคริสต์มาสได้ แต่ต้องงดสีสันโดยกำหนดให้มีลักษณะเป็นเพียงทูโทนเท่านั้น ขณะที่เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นั้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ในการปรับรูปแบบการจัดงานให้มีความพิเศษและน่าสนใจมากขึ้น จนเป็นที่จดจำของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ โดยเร็วๆ นี้จึงจะมีการแถลงรายละเอียดอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง

“สำหรับกิจกรรมต่างๆ ในปี 2560 เบื้องต้นยังคงจะมีการจัดเช่นเดิม ทั้งเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลตรุษจีน รวมถึงการจัดงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย ครั้งที่ 3 ซึ่งมีกำหนดจัดในช่วงใกล้เคียงกับวันตรุษจีนก็จะมีการปรับรูปแบบให้มีกลิ่นอายของเทศกาลตรุษจีนมากขึ้น”

ไตรมาส 3 ปี 59 รายได้ท่องเที่ยวเพิ่ม 12.22% 
นางกอบกาญจน์ยังกล่าวถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวไทย ไตรมาส 3 ปี 2559 ว่า ประเทศไทยมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยว 627,037.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.22% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 410,755.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.77% และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยท่องเที่ยวภายในประเทศ 216,282.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.69%

สำหรับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 410,755.03 ล้านบาท มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 8,228,278 คน เพิ่มขึ้น 13.09% แยกเป็น นักท่องเที่ยวจีน จำนวน 2.42 ล้านคน เพิ่มขึ้น 14.53% คิดเป็นรายได้ 123,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.67% นักท่องเที่ยวยุโรป จำนวน 1.20 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12.11% คิดเป็นรายได้ 86,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.60% และนักท่องเที่ยวอาเซียน จำนวน 2.20 ล้านคน เพิ่มขึ้น 14.63% คิดเป็นรายได้ 67,601 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18%

ส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยท่องเที่ยวภายในประเทศ จำนวน 216,282.22 ล้านบาท คิดเป็นจำนวน 36.48 ล้านคนต่อครั้ง เพิ่มขึ้น 5.55% แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. “10 เมืองท่องเที่ยวหลัก” สร้างรายได้ 155,631.85 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 72% ของรายได้ภายในประเทศทั้งหมด เพิ่มขึ้น 7.57% 2. “12 เมืองต้องห้าม...พลาด” สร้างรายได้ 13,141.70 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.1% ของรายได้ภายในประเทศทั้งหมด เพิ่มขึ้น 8.54% และ 3. “12 เมืองต้องห้าม…พลาด พลัส” สร้างรายได้ 13,777.87 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.4% ของรายได้ภายในประเทศทั้งหมด เพิ่มขึ้น 8.21%

คาดสิ้นปีทำรายได้เฉียด 2.5 ล้านล้านบาท 
นางกอบกาญจน์กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ในไตรมาส 4 ปี 2559 คาดว่าจะสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้น 1.28% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นจำนวน 2,486,282 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 389,844.43 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวชาวไทย 219,731.62 ล้านบาท

ในปี 2559 จึงคาดว่าประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งสิ้น 2,486,282 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 2.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 4% แยกเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 32.4 ล้านคน คิดเป็นรายได้ 1,627,280.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.68% และนักท่องเที่ยวชาวไทย 859,002.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.96%

เผย 7 ปัจจัยบวก-ลบ พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย 
นางกอบกาญจน์กล่าวด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีการแนะนำโครงการ Amazing Thailand เน้นการท่องเที่ยววิถีไทยแบบเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง (Local Experience) รวมถึงเส้นทางท่องเที่ยว Tourism for All ในหลายพื้นที่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวสำหรับทุกคน ทั้งเด็ก ผู้พิการ และผู้สูงวัย โดยจะเร่งแนะนำส่งเสริม “70 เส้นทางตามรอยพระบาท” ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมากขึ้น

“แม้ประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงแสดงความอาลัยถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แต่ก็ยังจำเป็นต้องชี้แจงสื่อสารกับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้าใจสถานการณ์ว่ากิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างๆ ยังมีการดำเนินต่อไป เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง”

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยบวกและปัจจัยที่มีผลกระทบ 7 ประการ ได้แก่ 1. แนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยวโลก 2. บทบาทการเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวภูมิภาคต่างๆ โดยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน 3. การเพิ่มขึ้นของกลุ่มนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุ 4. การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางที่นิยมเดินทางท่องเที่ยว ตลอดจนซื้อสินค้าและบริการประเภท Affordable Luxury (สินค้าแบรนด์เนมที่มีราคาจับต้องได้)

5. นโยบายกระตุ้นนักท่องเที่ยวกลุ่ม Responsible Tourism ให้เดินทางเข้าประเทศไทยมากขึ้น เพื่อปรับโครงสร้างกลุ่มนักท่องเที่ยวของประเทศไทยไปสู่การท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ 6. นโยบายการตลาดและแนวทางที่ชัดเจนในการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมเพื่อดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ (FIT) ชาวจีนให้เพิ่มสูงขึ้น และ 7. นโยบายด้านวีซ่าของกลุ่มประเทศอาเซียนที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด เช่น อินโดนีเซีย ยกเว้นวีซ่า 169 ประเทศ, มาเลเซีย ยกเว้น 162 ประเทศ, สิงคโปร์ เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเกือบทุกประเทศพำนักได้ 30 วันโดยไม่ต้องขอวีซ่า เป็นต้น


>
กำลังโหลดความคิดเห็น