“ออมสิน” สั่ง ร.ฟ.ท.-บขส.หารือ ยกเลิกแผนย้ายสถานีขนส่งหมอชิต2 ออกจากที่เดิม หลังประเมินพบว่าผู้โดยสารเดือดร้อนหนักแถมมีรถตู้ต่างจังหวัดมาเพิ่ม อีกทั้งต้องใช้งบลงทุนสูง ผลประชุมร่วมเคาะไม่ย้าย แต่ปรับลดขนาดพื้นที่สถานีขนส่งลงจาก 80 ไร่เหลือ 50 ไร่ ส่วนอีก 30 ไร่มอบคืนรถไฟไปพัฒนา ด้าน ร.ฟ.ท.เตรียมเสนอบอร์ดขออนุมัติ
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ มอบนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับดูแลของตน ร่วมกันพิจารณาในการไม่ย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (หมอชิต 2) ออกจากพื้นที่ปัจจุบันว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งล่าสุดทั้ง ร.ฟ.ท. และ บขส.ได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วว่าจะไม่มีการย้ายสถานีหมอชิต 2 ออกไป ที่รังสิตตามแผนเดิม แต่จะมีการปรับลดการใช้พื้นที่ลงเท่าที่มีความจำเป็น และคืนพื้นที่บางส่วนให้ ร.ฟ.ท.เท่านั้น ซึ่งการที่ไม่ต้องย้ายสถานีหมอชิต 2 ออกจากพื้นที่ปัจจุบันจะทำให้ประหยัดค่าลงทุนการก่อสร้างสำนักงาน อาคารผู้โดยสาร และสถานีขนส่งใหม่ กว่า 2,000 ล้านบาท โดยการอยู่ในพื้นที่เดิมจะมีการปรับปรุงอาคาร และจัดระเบียบพื้นที่นั้น ใช้เท่าที่จำเป็น
“จากที่ได้ประเมินผลดี ผลเสียในการย้ายสถานีหมอชิต 2 ออกไปจากที่เดิมแล้ว ประกอบกับเมื่อมีการย้ายรถตู้โดยสารต่างจังหวัดเข้ามาอยู่ภายในสถานีด้วย ทำให้เห็นว่าการย้ายหมอชิต 2 จะทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการเดือดร้อนมาก จึงให้รถไฟ และ บขส.ไปหารือกันเพื่อไม่ให้กระทบแผนพัฒนาตรงนั้น ซึ่งรถไฟจะทำเป็นคอมเพล็กซ์ การมีสถานีขนส่งตรงนั้นถือเป็นเรื่องดีเพราะผู้โดยสารจะเข้ามาสู่คอมเพล็กซ์ได้สะดวก” นายออมสินกล่าว
พลตำรวจเอก อำนาจ อันอาตม์งาม กรรมการบริษัทฯ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวภายหลังประชุมหารือร่วมกับนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางในการใช้พื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 ว่า จากการหารือร่วมกับ การรถไฟฯ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า บขส.จะไม่ย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ออกจากพื้นที่เดิม แต่จะลดขนาดพื้นที่ลง ซึ่งเดิมมีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ จะใช้พื้นที่เพียงประมาณ 50 ไร่ เป็นสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) และจะส่งคืนพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ให้การรถไฟฯ นำไปพัฒนาสถานีกลางบางซื่อตามแผนงานของการรถไฟฯ ต่อไป
โดยแผนเดิม บขส.มีแผนใช้พื้นที่ 16.7 ไร่ของการรถไฟฯ และมีแผนลงทุนก่อสร้างอาคารในพื้นที่ 16.7 ไร่ ใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท การที่การรถไฟฯ ให้ บขส.ใช้พื้นที่เดิม โดยลดพื้นที่บริเวณขาเข้าลงนั้น ทำให้ บขส.ใช้งบประมาณในการปรับปรุงอาคารสถานีและก่อสร้างอาคารจอดรถ 2 ชั้น น้อยลงกว่า 3 เท่า หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ การก่อสร้างอาคารจอดรถจะทำให้ บขส.สามารถรองรับปริมาณรถที่เข้าใช้สถานีฯ ได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งการที่ บขส.ได้อยู่ที่เดิมจะทำให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น สามารถเชื่อมต่อระบบสาธารณะอื่นๆ ได้ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดย บขส.จะจัดทำแผนพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาเดิมของการรถไฟฯ ในปี 2562
ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า หลังจากได้ข้อสรุปร่วมกันแล้ว ที่ปรึกษาฯ ของทั้งสองฝ่ายจะหารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปในการบริหารจัดการพื้นที่ภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. เพื่ออนุมัติต่อไป
โดยเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ได้อนุมัติให้ บขส.เช่าพื้นที่จำนวน 16.7 ไร่ เป็นเวลา 15 ปี ซึ่งเป็นที่ตั้งอู่จอดรถ ขสมก.ในปัจจุบัน โดยแผนย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต ออกจากพื้นที่แปลงC และส่งมอบคืนให้ ร.ฟ.ท.ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต โดยให้ ขสมก.ย้ายอู่จอดรถไปอยู่บริเวณใต้ทางด่วนใกล้กับศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ด้านพื้นที่โซน A พื้นที่ 7.3 ไร่ ซึ่งตามข้อตกลง บขส.จะต้องย้ายออกจากพื้นที่ปัจจุบันให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2561
ทั้งนี้ ตามแผน ขสมก.จะใช้เวลาก่อสร้างอู่จอดรถใหม่ 360 วัน โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย. 59-มิ.ย. 60 งบประมาณ 50 ล้านบาท ส่วน บขส.จะต้องทำแผนการย้ายให้สอดคล้องกันกับ ขสมก. โดยจะย้ายออกไป 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ 16.7 ไร่ ในบริเวณสถานีกลางบางซื่อ และอีกส่วนจะย้ายไปอยู่ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (รังสิต) มีพื้นที่ประมาณ 45 ไร่
และก่อนหน้านั้น บขส.มีแผนจะซื้อที่ดินใหม่ ประมาณ 80 ไร่ บริเวณรังสิตเพื่อก่อสร้างเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งใหม่ แต่ออกทีโออาร์ไป 3 ครั้งแล้วยังซื้อที่ดินไม่ได้ และส่งผลกระทบต่อกรอบเวลาการย้ายออกจากพื้นที่ ร.ฟ.ท.จึงจัดสรรพื้นที่ให้ ขสมก. และให้ บขส.ย้ายไปอยู่แทน ขสมก.