ตามคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะ หมวด 2 วิ่งเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัด ระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร โดยย้ายจุดจอดจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเข้าใช้พื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ สถานีขนส่งจตุจักร (หมอชิต 2), สายใต้ (ปิ่นเกล้า), เอกมัย ขีดเส้นตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2559 โดยมีคณะคณะทำงานจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการ 6 ฝ่าย ได้แก่ ผู้แทนจากตำรวจ ทหาร บขส. ขสมก. กรมการขนส่งทางบก และสนข. พร้อมคณะทำงานย่อย 3 คณะ โดยมีนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก, พล.ต.อ.อำนาจ อันอาตม์งาม กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทขนส่งจำกัด และ พ.อ.สุวิทย์ เกตุศรี รองผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ เป็นประธานร่วมซึ่งมีการร่วมกันพิจารณาปัญหาในทุกมิติ และกำหนดแนวทางในการปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดระเบียบรถตู้เข้าสถานีทั้ง 3 แห่ง เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยสุด อันจะนำไปสู่การจัดระเบียบเพื่อประชาชนอย่างยั่งยืนนั้น
ก่อนถึงวันดีเดย์ คณะทำงานได้ทดลองการเดินรถ Shuttle Bus ให้บริการฟรี ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เชื่อมต่อระหว่างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กับสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ จำนวน 3 สถานี ซึ่งเส้นทางวิ่งของรถ Shuttle Bus จากอนุสาวรีย์ฯ-สถานีขนส่งหมอชิต 2 นั้นจะใช้ทางด่วนโดยขึ้นที่ด่านพหลโยธินลงที่บางซื่อ แล้วจึงเข้าสถานีขนส่งหมอชิต 2 กรณีรถไม่ติด ใช้เวลาประมาณ 20 นาที แต่ถ้ารถติดจะใช้เวลามากกว่า 40 นาที
ส่วนเส้นทาง Shuttle Bus จากอนุสาวรีย์ฯ-สถานีขนส่งสายใต้ (ปิ่นเกล้า) จะใช้ทางด่วน 2 ต่อ โดยขึ้นที่ด่านพหลโยธินต่อไปที่ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ เพื่อลงที่บางบำหรุ เข้าสู่สถานีขนส่งสายใต้ (ปิ่นเกล้า) ใช้เวลาใกล้เคียงกันประมาณ 20-40 นาที
ผู้โดยสารที่ต้องการไปสถานีขนส่งสายใต้ปิ่นเกล้า และสถานีขนส่งหมอชิต 2 ขึ้นรถ Shuttle Bus ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฝั่งเกาะพหลโยธิน ระหว่างเวลา 05.30-20.30 น. สถานีขนส่งฯเอกมัย ขึ้นรถ Shuttle Bus ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฝั่งเกาะดินแดง ระหว่างเวลา 05.30-20.00 น. นอกจากนี้ ขสมก.ได้จัดรถ Shuttle bus วิ่งเชื่อมต่อระหว่างสถานี BTS หมอชิต กับ สถานีขนส่งฯ จตุจักร ระหว่างเวลา 05.30-20.30 น.อีกด้วย
โดย ขสมก.จัดปรับอากาศ Shuttle Bus จากอนุสาวรีย์ฯ-สถานีขนส่งหมอชิต2 จำนวน 8 คัน, อนุสาวรีย์ชัยฯ-สายใต้ (ปิ่นเกล้า) 12 คัน และอนุสาวรีย์ชัยฯ-เอกมัย 8 คัน โดยดึงมาจากรถที่ให้บริการในเส้นทางปกติ ทำให้ ขสมก.ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มประมาณ 12,000 บาท/คัน/วัน
ขณะที่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ได้จัดเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับรถตู้ประจำทางหมวด 2 เข้าใช้ในพื้นที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 รองรับจำนวนรถได้ 2,046 คัน สถานีสายใต้ปิ่นเกล้า รองรับได้ 1,617 คัน และสถานีเอกมัย รองรับได้ 542 คัน รวม 4,205 คัน ให้คำยืนยันว่าสถานที่พร้อมทุกด้านแล้วในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร
ปฏิบัติการ 25 ต.ค.อนุสาวรีย์ชัยฯ โล่ง Shuttle Bus คนใช้น้อย แล้วผู้โดยสารหายไปไหนหมด!
เมื่อไม่มีคิวรถตู้ต่างจังหวัด เช้าวันที่ 25 ต.ค.ซึ่งเป็นวันทำงานปกติ ทำให้อนุสาวรีย์ชัยฯ ไม่แออัด หนาแน่น ผู้คนไม่ต้องเดินเบียดเสียดกันเหมือนเดิม จะมีประชาชนส่วนหนึ่งที่ยังคงเดินทางเพื่อต่อรถตู้ออกไปต่างจังหวัด โดยใช้บริการรถ Shuttle Bus ของ ขสมก.ที่ได้จัดเตรียมไว้ แต่ก็ไม่หนาแน่น คึกคัก ตามไปดูที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 ซึ่ง บขส.ได้จัดพื้นที่ไว้สำหรับเป็นจุดจอดรถตู้ มีโต๊ะจำหน่ายตั๋วรถตู้ ตั้งเรียงแถวหน้ากระดาน ภายใต้หลังคากว้างประมาณ 2-3 เมตร และมีรถตู้จอดตรงข้ามโต๊ะขายตั๋วเมื่อตรวจสอบพบว่า รถคันที่จอดมีเส้นทาง ไม่ตรงกับโต๊ะขายตั๋ว ทำให้เมื่อซื้อตั๋วแล้วผู้โดยสารจะต้องเดินไปหารถตู้ที่จอดไกลออกไป...แบบนี้สุ่มเสี่ยงที่หารถไม่เจอ และหากมีกระเป๋าสัมภาระมากสภาพคงทุลักทุเลทีเดียว
“ช่วงบ่าย 25 ต.ค. ฝนตกหนักที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 โต๊ะขายตั๋วรถตู้และเก้าอี้นั่งถูกฝนสาดเข้ามาทำให้ทั้งผู้โดยสารและผู้ประกอบการเปียกปอนไปตามๆ กัน”
ขณะที่รถ Shuttle Bus จะวิ่งฟรีไปนานแค่ไหน ข้อมูลจาก ขสมก.ระบุว่า เป็นบริการในช่วงแรกเท่านั้น อาจจะ 6 เดือน หากประเมินประชาชนปรับตัวได้แล้วจะยกเลิกบริการนี้
ผู้โดยสารรถตู้รายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ต้องใช้บริการรถตู้โดยสารเป็นประจำ เส้นทางกรุงเทพฯ-บางปะหัน เพื่อมาทำงานในแถวถนนราชดำเนิน ก่อนหน้านี้ที่คิวรถตู้โดยสารเส้นทางต่างจังหวัด อยู่ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ การเดินทางค่อนข้างสะดวกทั้งไปและกลับ โดยตอนเช้าจะใช้บริการรถเที่ยวเวลา 04.00 น. จากบางปะหันรถวิ่งเข้ามาถึงอนุสาวรีย์ชัยฯ ลงต่อรถเมล์ไปถนนราชดำเนินได้ เข้าทำงานทันเวลา ส่วนขากลับถึงบ้านประมาณ 2 ทุ่ม วันที่ 25 ต.ค.ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการจัดระเบียบ คิวรถตู้บางปะหันย้ายไปอยู่ที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 ต้องปรับวิธีการเดินทางใหม่ โดยออกจากบ้านเร็วขึ้นกว่าเดิม 1 ชั่วโมง และลงรถตู้ย่าน ม.ธรรมศาสตร์รังสิต เพื่อต่อรถตู้ร่วมฯ ขสมก.เพื่อเข้าอนุสาวรีย์ เพราะหากวนไปสถานีหมอชิต 2 จะเสียเวลา ทำให้ต้องเสียค่ารถตู้สองต่อกว่าจะถึงอนุสาวรีย์ฯ
ผู้โดยสารอีกรายใช้บริการรถตู้เส้นทางอนุสาวรีย์ชัยฯ (เซ็นจูรี่) -นครปฐม เป็นประจำ เพื่อไปทำงานย่านอโศก เสียค่าโดยสาร 65 บาท โดยจะต่อรถไฟฟ้า BTS ได้สะดวก ซึ่งก่อนดีเดย์ 25 ต.ค. คิวรถตู้เซ็นจูรี่บางคันย้ายไปรับส่งที่สถานี BTS บางหว้า เป็นทางเลือกให้ผู้โดยสารเพื่อสามารถที่สถานี BTS โดยรถตู้เก็บค่าโดยสารลดลงเหลือ 45 บาท แม้จะเสียเวลาในการต่อรถ BTS ถึง 2 สาย แต่ถือว่าเป็นทางเลือกที่รับได้ แต่มีการยกเลิกบริการไปวันที่ 28 ต.ค. เมื่อทหารเข้ามาตรวจพบทำให้ต้องหาวิธีเดินทางใหม่ ซึ่งการเดินทางไปสถานีขนส่งสายใต้ไม่สะดวกมากๆ เพราะต้องเสียเวลารอรถ Shuttle Bus ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ นานมาก จนต้องตัดสินใจขึ้นรถเมล์สาย 515 ไปสถานีขนส่งสายใต้ แต่รถติดหนักมากต้องลงรถเมล์ต่อรถมอเตอร์ไซค์หลายช่วง
“ตอนนี้การเดินทางลำบากมากๆ กว่าจะถึงบ้าน ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่ม นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุ ที่ต้องเข้ามาหาหมอโรงพยาบาลย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ โดยเฉพาะช่วงวันอังคาร, พุธ, พฤหัสบดี ได้รับความลำบากเพราะต้องใช้เวลาเดินทางมากขึ้น ขณะที่ต้องอดน้ำ/อาหารเพื่อมาเจาะเลือด รับบัตรคิวหาหมอ ไม่สะดวกจริงๆ”
บขส.เร่งปรับปรุงสถานีขนส่ง จัดระบบรถตู้ใหม่ เพื่อบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น
ด้านนายนพรัตน์ การุณยะวนิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารการเดินรถ บขส.กล่าวว่า ภาพรวมการจัดระเบียบรถตู้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการนำรถตู้เข้าใช้สถานีขนส่งฯ ซี่งวันแรกผู้โดยสารอาจจะลดลงจากเดิม แต่ผ่านไป 3-4 วัน ผู้โดยสารเริ่มมากขึ้นแล้ว โดยยอมรับว่า เรื่องพื้นที่ขายตั๋วต้องเร่งปรับปรุง เช่น ด้านหลังต้องมีคลุมกันฝน และเร่งปรับปรุงสิ่งแวดล้อมโดยรอบสถานี ทางเข้าออกรถ ระบบไฟฟ้า แสงสว่าง ห้องน้ำ จุดพักคอยของผู้โดยสาร ให้เน้นมาตรการอำนวยความสะดวก สะอาด และปลอดภัยสูงสุด และป้ายประชาสัมพันธ์การให้บริการ Shuttle Bus ในทุกจุดบริการ ไม่ให้สับสน ส่วนการระบายน้ำที่ล่าช้า เกิดจากด้านหลังสถานียังติดการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง
สำหรับรถทั้ง 4,205 คันจะย้ายจากพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยฯ, กองสลากเก่า, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, ปิ่นเกล้า, ใต้ทางด่วนหมอชิต กระจายเข้าสถานีหมอชิต 2 (สายเหนือ อีสาน กลาง ) 59 เส้นทาง จำนวน 111 คิว เข้าสถานีสายใต้ (ปิ่นเกล้า) สายใต้ 32 เส้นทาง จำนวน 58 คิว เข้าสถานีเอกมัย 26 เส้นทางจำนวน 26 คิว
โดยจะขอความร่วมมือผู้ประกอบการเพื่อปรับเวลาการเดินรถ จำนวนเที่ยววิ่ง, เส้นทาง ให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน โดยเฉพาะเส้นทางที่มีผู้ประกอบการหลายเจ้าของหลายคิว จะจัดช่องขายตั๋วให้อยู่ติดกันเป็นกลุ่ม เพื่อความสะดวกในการเลือกใช้บริการ ส่วนผู้โดยสารจะเลือกใช้บริการคิวใด อยู่ที่คุณภาพการบริการ และความปลอดภัย ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับปรุงเพื่อแข่งขันกันมากกว่าการช่วงชิงลูกค้าด้วยวิธีอื่น
“พยายามให้บริการมีความสะดวกที่สุด ซึ่งรถตู้ขาเข้า สายเหนือ กลาง อีสาน จะส่งผู้โดยสารลงที่สถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต จากนั้นจึงจะวนเข้าสถานีหมอชิต 2 ผู้โดยสารสามารถต่อรถ BTS เข้าเมืองได้ทันที ถือว่าสะดวกมาก ส่วนขาออกผู้โดยสารยังต้องไปขึ้นที่สถานีขนส่ง หมอชิต 2”
นโยบายจัดระเบียบรถตู้ ย้ายคิวเข้าสถานีขนส่ง เปิดพื้นที่จราจรอนุสาวรีย์ชัยฯ ลดแออัดคับคั่ง มุมหนึ่งเสียงสะท้อนประชาชนบางส่วนที่ต้องเดินทางลำบาก ชีวิตเปลี่ยน-เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่ม ขณะที่มุมหน่วยงานรัฐเร่งปรับปรุงแก้ไขจุดที่ยังเป็นปัญหา ... ให้เวลาปรับตัวกันอีกระยะเพื่อความมีระเบียบและสังคมไทยไร้มาเฟียแบบยั่งยืน เพราะต้องไม่ลืมว่าวินรถตู้อนุสาวรีย์ชัยฯ เกิดขึ้นได้อย่างไร วันนี้อำนาจ คสช.ย้ายได้ อนาคตหมดยุค คสช. คิวรถตู้ก็อาจจะกลับมาอีกได้เช่นกัน