ประชุมรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 15 ยังสรุปแบบก่อสร้างช่วงแรก 3.5 กม. ถอดเป็นราคากลางเพื่อเปิดประมูลไม่ได้ “อาคม” ขอจีนรวบออกแบบตอน 2-3 ขยายระยะทางอีกกว่า 100 กม. เร่งทยอยก่อสร้างเพื่อให้สามารถเปิดเดินรถได้ ยันไม่ปรับเป้า ธ.ค. 59 เริ่มต้นโครงการ เผยจีนเสนอดอกเบี้ยเงินกู้ 2.8% คลังชี้ยังสูงกว่าแหล่งอื่น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 15 ที่กรุงเทพมหานคร ในการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา (ไฮสปีดเทรน) ระยะทาง 252.5 กม. วันที่ 29 ต.ค. ว่าการเจรจาในประเด็นหลักเรื่องแบบก่อสร้าง, ร่างสัญญา และด้านการเงิน ยังไม่เรียบร้อยและต้องหารือกันต่อไป โดยในส่วนของการปรับรหัสมาตรฐานวัสดุก่อสร้างของจีนมาเป็นรหัสมาตรฐานของไทยเพื่อถอดราคาค่าก่อสร้างกำหนดราคากลาง และเปิดประมูลตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. (สถานีกลางดง-ปางอโศก) ยังไม่จบ โดยได้ทำความเข้าใจเพิ่มเติมการถอดรหัสวัสดุก่อสร้างในส่วนรายการใหญ่ต้องสรุปก่อนเปิดประมูล ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยสามารถไปตกลงกันในขั้นตอนก่อสร้างได้ เพื่อความรวดเร็ว
โดยจากแผนงานแบ่งการก่อสร้าง 4 ตอน ประกอบด้วย ตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. (สถานีกลางดง-ปางอโศก) ตอนที่ 2 (ปากช่อง-คลองขนานจิตร) ระยะทาง 11 กม.ตอนที่ 3 (แก่งคอย-โคราช) ระยะทาง 119 กม.ตอนที่ 4 (กรุงเทพฯ-แก่งคอย) ระยะทาง 119 กม. ทั้งนี้เพื่อให้การก่อสร้างมีความต่อเนื่อง และมีระยะทางยาวพอสมควรที่จะสามารถเดินรถได้ ไทยได้ขอให้จีนออกแบบในตอนที่ 2 และตอนที่ 3 ที่อยู่ต่อจากตอนที่ 1 ไปเลยซึ่งจะทำให้มีระยะทางรวม 2 ตอน มากกว่า 100 กม.
ทั้งนี้ ฝ่ายจีนต้องการให้ร่างสัญญาEngineering Procurement and Construction (EPC-2) สรุปก่อน จึงจะออกแบบตอนที่ 2, 3 ได้ เพื่อความมั่นใจเรื่องค่าออกแบบ ขณะนี้การเจรจาร่างสัญญา EPC งานออกแบบ, สัญญาควบคุมงาน และสัญญาจัดหาระบบตัวรถ ระบบอาณัติสัญญาณ ซ่อมบำรุง และฝึกอบรมจะต้องเป็นสัญญามาตรฐานในบริบทของกฎหมายไทยทนั้นจีนยังพิจารณาไม่เสร็จ โดยเฉพาะบททั่วไปและบทเฉพาะกาล โดยรูปแบบในการว่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานนั้นจะต้องเป็นบริษัทร่วมระหว่างรัฐวิสาหกิจไทยและรัฐวิสาหกิจจีน
ส่วนการเงินซึ่งจะกู้จากจีนในการจัดหาระบบอาณัติสัญญาณ และตัวรถ สัดส่วนประมาณ 20% ของมูลค่าโครงการที่ 179,412 ล้านบาทนั้น จีนเสนอเงินกู้สกุลหยวน อัตราดอกเบี้ย 2.8% สกุลดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ย 2.3% ซึ่งทางคลังเห็นว่าอัตรายังสูงกว่าเมื่อเทียบกับแหล่งเงินกู้อื่น
นายอาคมกล่าวว่า ขณะนี้ยังยึดเป้าหมายเริ่มต้นโครงการในเดือน ธ.ค. 59 โดยขั้นตอนการขออนุมัติโครงการนั้น ทางการรถไฟฯ ได้ส่งเรื่องมาแล้วอยู่ระหว่างขอความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดว่าจะเสนอครม.ได้ใน พ.ย.-ธ.ค. 59 ขณะที่การพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นั้น ช่วงกรุงเทพ-บ้านภาชี ได้รับอนุมัติแล้ว ส่วนช่วงบ้านภาชี-โคราช ยังอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (คชก.)
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานจะทำคู่ขนานไป ทั้งการขออนุมัติโครงการ การออกแบบ การร่างสัญญา เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยจากนี้คณะทำงาน 2 ฝ่ายจะต้องกลับไปพิจารณา และจะมีการประชุมร่วมครั้งที่ 16 ในช่วงวันที่ 23-25 พ.ย.ซึ่งจะพยายามสรุปเรื่อง แบบก่อสร้าง ถอดรหัสมาตรฐานวัสดุให้จบ โดยแบบตอนที่ 2, 3 นั้น มีกำหนดส่งช่วง พ.ย.และ ก.พ. 60 ขอให้จีนรวบการออกแบบเพื่อเร่งสร้างให้ระยะทางยาวพอที่จะเปิดเดินรถได้ก่อน เพราะช่วง 3.5 กม.นั้น กำหนดเป็นการเริ่มต้นเพื่อให้โครงการเกิด ซึ่งเป้าหมายเดือน ธ.ค. 59 กำหนดเพื่อให้ทุกฝ่ายเร่งทำงาน ซึ่งน่าจะเปิดประมูลได้ ส่วนการเริ่มก่อสร้างอาจจะขยับต่อไปเพราะการประมูลมีขั้นตอนและต้องใช้เวลา
“ช่วง 3.5 กม.เป็นจุดเริ่มต้น หากในการออกแบบสรึปเห็นตรงกันจะทำให้ตอนอื่นไปได้เร็ว แต่จีนอยากให้ลงนามสัญญาจ้างออกแบบได้ก่อน เพราะกังวลว่าจะไม่ได้ค่าออกแบบ โดยขณะนี้จีนได้ทำงานล่วงหน้าในส่วนของ 3.5 กม.ไปโดยไม่มีสัญญาจ้างออกแบบอยู่แล้ว” นายอาคมกล่าว