“คมนาคม” เร่งสรุปรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหิน มูลค่ารวมกว่า 2.47 แสนล้าน คาดเสนอ สคร.ได้ใน ต.ค.นี้ เข้า PPP Fast Track ชง ครม.อนุมัติ ม.ค. 60 เดินหน้าเปิดประมูลเอกชนลงทุน 100% ยอมรับแนวกรุงเทพฯ-ระยอง พื้นที่รถไฟมีน้อย เอกชนต้องเป็นนักพัฒนาที่ดินมืออาชีพ สร้างเมืองใหม่เพิ่มมูลค่าพื้นที่รอบสถานี
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 193.50 กิโลเมตร (กม.) กรอบวงเงิน 152,528 ล้านบาท และสายกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. กรอบวงเงิน 94,673.16 ล้านบาท ซึ่งจะใช้รูปแบบร่วมทุนกับเอกชน (PPP) ในส่วนของรายละเอียดของการพัฒนาที่ดินรอบสถานีที่ได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม และการต่อเชื่อมกับสนามบินอู่ตะเภาของสายกรุงเทพฯ-ระยอง มายังกระทรวงคมนาคมแล้ว และทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างประมวลข้อมูล คาดว่าจะเสนอนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เห็นชอบได้ภายในเดือน ต.ค.นี้ จากนั้นจะนำเสนอไปยังสำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) พิจารณาในปลายเดือน ต.ค.
ทั้งนี้ โครงการจะเข้า PPP Fast Track มีขั้นตอนพิจารณาใน 60 วัน ซึ่งจะทำให้สามารถนำเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเดือน ม.ค. 2560 จากนั้นจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 เพื่อเข้าสู่กระบวนการประกวดราคาต่อไป
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ในการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยองนั้นมีผลตอบแทนทางการเงินไม่มาก แต่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออกมีศักยภาพสูง และเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐบาลผลักดัน โดยจะใช้รูปแบบร่วมทุนกับเอกชน (PPP) โดยให้สิทธิ์เอกชนในการลงทุนก่อสร้างและบริหารเดินรถ ร่วมลงทุนแบบ PPP 100% คล้ายๆ กับรูปแบบการลงทุนรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีเหลือง และสายสีชมพู ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยได้รับสิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่ในสถานี พื้นที่รอบสถานี รายใดที่เสนอขอรับการสนับสนุนจากรัฐน้อยที่สุดจะเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก
ทั้งนี้ ตลอดแนวเส้นทางรถไฟกรุงเทพฯ-ระยอง การรถไฟฯ มีพื้นที่ในแต่ละสถานีไม่มากนัก และแนวเส้นทางอยู่นอกเขตเมือง เนื่องจากเดิมเส้นทางรถไฟสายตะวันออกถูกเน้นไปในการขนส่งสินค้ามากกว่าโดยสาร ดังนั้น การพัฒนาเพื่อนำรายได้จากเชิงพาณิชย์มาอุดหนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอาจจะไม่คุ้มค่าและไม่จูงใจเอกชนมากนัก ซึ่งเอกชนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาที่ดิน รวมถึงอาจจะต้องลงทุนจัดหาที่ดินเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นแปลงใหญ่สามารถพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้
โดยเส้นทางรถไฟช่วงกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 194 กม. การรถไฟฯ มีพื้นที่สามารถพัฒนาได้ 6 สถานี คือ ลาดกระบัง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา ระยอง แบ่งเป็นพื้นที่พัฒนาภายในสถานีรวม 5,499 ตารางเมตร พื้นที่ย่านสถานี 162 ไร่ ประมาณการรายได้ 15,857 ล้านบาท