“อาคม” เผย กพท.นัดหารือ FAA กลาง พ.ย.นี้ คาดเคลียร์ปมการบินของไทย จ่อปรับเกรดขึ้นเป็น CAT 1 ในปี 60 ขณะที่ EASA ย้ำกระบวนการออก AOC ใหม่ต้องโปร่งใส ต้องผ่าน 5 ขั้นตอนโดยไม่ผ่อนปรนใดๆ และให้ กพท.เพิ่มการตรวจตรา เฝ้าระวัง ต่อเนื่องการบริการของแอร์ไลน์หลังพบมีบางสายดีเลย์บ่อย และนัดเจรจา “ออสเตรเลีย-เกาหลี-ญี่ปุ่น” ผ่อนปรนเพิ่มจุดบิน ด้าน “จุฬา” คาดเริ่ม ออก AOC ใหม่ ธ.ค.-ม.ค. จ่อเชิญ ICAO ตรวจซ้ำ มี.ค. 60 ขณะที่ยอมรับนกแอร์ดีเลย์และยกเลิกถี่ เตรียมเรียกหารือแก้ปัญหาสัปดาห์นี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงผลการเข้าร่วมประชุมสมัชชาขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) สมัยสามัญครั้งที่ 39 ระหว่างวันที่ 25-30 ก.ย. 2559 ณ สำนักงานใหญ่ของ ICAO เมืองมอลทริออล ประเทศแคนนาดา ว่า สมัชชา ICAO จะมีการประชุมทุกๆ 3 ปี โดยครั้งนี้ได้เข้าเยี่ยมพร้อมหารือกับประธานสภาและเลขาธิการ ICAO และได้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มความร่วมมือเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านความปลอดภัยทางการเงิน (ASIAP) และหารือระดับทวิภาคีกับหน่วยงานและประเทศที่มีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ได้แก่ องค์การกำกับดูแลด้านความปลอดภัยทางการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) กระทรวงคมนาคมแห่งสหภาพยุโรป (DG MOVE) สำนักงานบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศฝรั่งเศส (DGAC) ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน และเกาหลีใต้
โดยผลการเข้าร่วมประชุมสมัชชา ICAO ครั้งที่ 39 ถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างความเชื่อมั่นแก่สมาชิกในการแก้ปัญหาการบินของไทย ขณะที่การเข้าพบประธานและเลขาธิการ ICAO ได้มีการรายงานถึงความคืบหน้าการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ (SSC) นั้น ICAO ได้แสดงความยินดีพร้อมให้ความช่วยเหลือทั้งทางวิชาการและเทคนิคกับไทย ขณะที่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาไทยได้รายงานการแก้ปัญหาให้ ICAO ทราบ ซึ่งได้เริ่มกระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Re-certification) หรือการออก AOC ใหม่ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวสำคัญในการปฏิบัติตามแผนที่ ICAO รับรองเพื่อให้ปลดจากธงแดงโดยเร็ว
ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้รายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหา SSC ผ่านระบบออนไลน์ ทั้งการแยกองค์การ การบินพลเรือน การจัดหาบุคลากรผู้ตรวจสอบ การออกแบบตามต้นแบบ ICAO โดยร่างกฎหมายใหม่นั้นจะแล้วเสร็จสิ้นปี 2559 การออก AOC ใหม่ซึ่งก่อนยื่นให้ ICAO ตรวจซ้ำจะต้องมีความพร้อม โดยจะทำงานกับ ICAO อย่างใกล้ชิด
ส่วน EASA และ DG MOVE นั้น ย้ำให้กระบวนการออก AOC ใหม่โปร่งใส หากสายการบินใดไม่ผ่านเกณฑ์ 5 ขั้นตอนจะต้องไม่ผ่อนปรนใดๆ และต้องไม่ให้มีอิทธิพลใดๆ เข้ามาครอบงำในการออกใบรับรองใหม่ รวมถึงให้ กพท.เพิ่มขั้นตอนในการตรวจตรา เฝ้าระวังสม่ำเสมอเพี่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้โดยสารเรื่องความปลอดภัย โดยได้กำชับนายจุฬา สุขมานพ ผอ.กพท.ให้เรียกประชุมสายการบินให้เพิ่มความเข้มงวดในมาตรการซ่อมบำรุงต่างๆ ไม่ให้เกิดความขัดข้องในการให้บริการซึ่งที่ผ่านมามีสายการบินที่เที่ยวบินล่าช้าบ่อยต้องเรียกมาตักเตือน หากไม่พร้อมในการให้บริการต้องพิจารณาถอนเส้นทางบินออกไปเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้โดยสาร
ทั้งนี้ ประธาน ICAO เห็นว่า ที่ไทยประกาศเข้าร่วมมาตรการลดผลกระทบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมการบิน ในระยะแรก แม้ว่ายังอยู่ระหว่างแก้ SSC ในเวทีการบินพลเรือนระหว่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า สายการบินของไทยมีความปลอดภัยสูงและพร้อมในการเข้าร่วมโครงการระหว่างประเทศ พร้อมกันนี้ยังเห็นว่า ในการแก้ปัญหาการบินของไทยได้รับความช่วยเหลือจากอียู EASA ICAO ในอนาคตไทยควรเป็นประเทศผู้ให้และเป็นผู้นำการบินพลเรือนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไม่ใช่แค่ในอาเซียน ซึ่งมีสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ผลิตบุคลากรด้านการบินที่ ICAO ให้การรับรองมาตรฐานการอบรม การสอบ ใบอนุญาตอายุ 3 ปี และมีโรงเรียนการบินภาคเอกชน ไทยจะเป็นศูนย์กลางด้านผลิตบุคลากรได้
นายอาคมกล่าวว่า ทาง FAA มีความเห็นร่วมกันในการหารือด้านเทคนิคเพื่อกำหนดแผนงานและระยะเวลาในการปรับ อันดับไทยจาก Category2 (CAT 2) ขึ้นเป็น Category 1 (CAT1) ซึ่งไม่มีมาตรฐานด้านเวลาเพราะบางประเทศใช้เวลาหลายปี บางประเทศใช้เวลาไม่นาน โดย FAA ระบุว่าขึ้นกับการตอบข้อซักถามหลักๆ ได้แค่เร็วไหน โดยไทยมี 35 ข้อที่ต้องตอบซึ่งต้องแยกข้อหลัก ข้อย่อย หากตอบข้อหลักได้พอใจ อาจจะได้รับพิจารณาเร็ว โดย FAA ทราบการทำงานของไทยมีความก้าวหน้าและการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ทั้งนี้ คณะทำงานของ กพท.และคณะทำงาน FAA นัดหารือกันช่วงกลางเดือน พ.ย. 2559 นี้ ที่เมืองลอสแองเจลิส ซึ่งการปรับเป็น CAT 1 ไม่จำเป็นต้องรอปลดธงแดง
นอกจากนี้ยังจะมีการเจรจาสิทธิการบินกับประเทศเกาหลีใต้ เรื่องเสรีภาพที่ 5 และขอความร่วมจากสำนักงานการบินพลเรือนออสเตรเลีย ในการพิจารณาอนุญาตให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สามารถนำเครื่องบินใหม่ A 350 XWB ที่เพิ่งได้รับมอบทำการบินได้โดยเร็ว โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารในการเปลี่ยนแบบเครื่องบินรุ่นใหม่ที่มีความการพัฒนาเทคโนโลยีและความปลอดภัยสูงขึ้น รวมถึงขอความร่วมมือกับญี่ปุ่นในการพิจารณาผ่อนปรนมาตรการเข้มงวดในการเพิ่มเที่ยวบินและจุดบินปลายทาง ซึ่งทางปลัดกระทรวงกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (MLIT) จะนัดหารือรัฐมนตรีกระทรวง MLIT เร็วๆ นี้เพื่อได้รายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาการบินของไทย
“ทั้งออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ล้วนเป็นตลาดการท่องเที่ยวสำคัญของไทย หากสามารถเพิ่มเที่ยวบินได้ หรือเพิ่มขนาดเครื่องบินได้จะเป็นส่งเสริมด้านการบิน เพิ่มรายได้ให้สายการบิน ส่วยตลาดสหรัฐอเมริกานั้นได้วางแผนให้การบินไทยเข้าสหรัฐฯ อีกครั้งในช่วงปี 2560 ใน 2 จุดที่จะบินผ่านทางเอเชียแปซิฟิก ที่ผ่านทางญี่ปุ่น และเกาหลีใต้”
สำหรับการบินไทยนั้นได้ยกเลิกทำการบินเข้าสหรัฐฯ ไปก่อนที่จะถูกลดชั้นเป็น CAT 2 ทำให้การที่จะกลับไปบินใหม่อีกครั้งจะต้องใช้เวลามากขึ้น เพราะต้องเริ่มกระบวนการใหม่ โดยจะต้องได้ปรับ CAT 1 ก่อน คือ หากไม่หยุดบินไปก่อนทาง FAA ยังผ่อนปรนได้ ซึ่งให้การบินไทยเตรียมพร้อมไว้
แจงมาตรฐาน FAA โจทย์หลักตรวจนักบินให้ตรงแบบเครื่องบิน
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท.กล่าวว่า การหารือกับ FAA นั้น ประเด็นหลักคือ การตรวจนักบิน เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องคุณสมบัติของผู้ตรวจสอบนักบินของ กพท.ที่ไม่ตรงกับรุ่นของเครื่องบิน เป็นการตรวจสอบรวมซึ่งได้แก้ไขโดยการจัดหาผู้ตรวจสอบ จากภายนอก 58 คน เข้ามาทำหน้าที่ โดย กพท.มอบอำนาจในการตรวจสอบและกพท.จะเป็นผู้ออกใบรับรองให้นักบิน โดยมีนักบินประมาณ 400-500 คนที่ต้องตรวจสอบใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักบินเครื่องบินรุ่นใหม่เช่น แอร์บัส A380, โบอิ้ง B777, B 787 เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประเด็นที่นำไปหารือกับ FAA คาดว่าอย่างเร็วจะสามารถปรับ CAT 2 เป็น CAT1 ได้ช่วงตารางบินฤดูร้อน ประมาณ มี.ค. 2560
ส่วนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Re-certification- AOC ) ใหม่ให้กับ 25 สายการบินระหว่างประเทศนั้น ได้เริ่มกระบวนการแล้ว โดยเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 คือ การตรวจเอกสาร ที่ขณะนี้สายการบินบางกอกแอร์เวย์สมีความก้าวหน้ามากที่สุด ส่วนการบินไทย และไทยแอร์เอเชีย อยู่ในขั้นตอนที่ 3 เหมือนกัน โดยคาดว่าจะเริ่มทยอยออก AOC ได้ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 59 หรือ ม.ค. 60 ส่วนสายการบินใหม่ที่จะขอ AOC และสายการบินที่ AOC หมดอายุไปแล้วนั้นจะต้องกลับไปเริ่มกระบวนการขอใหม่ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในเดือน เม.ย. 2560
ICAO แจ้งตรวจสนามบินไทยตามโครงการ USAP ก.ค. 60
นอกจากนี้ ICAO แจ้งว่าจะเข้ามาทำการตรวจสอบท่าอากาศยานของไทย โครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัย (Universal Security Audit Programme : USAP) ในเดือน ก.ค. 60 โดยจะทราบหัวข้อการตรวจสอบในเดือน ต.ค.นี้ คาดว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย, เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ของสนามบินต่างๆ ที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ
เตรียมเรียก “นกแอร์” หารือสาเหตุเที่ยวบินดีเลย์ และวิธีการแก้ปัญหา
นายจุฬากล่าวว่า จากนโยบายและมาตรการเรื่องการให้บริการของสายการบินที่มีเที่ยวบินล่าช้าหรือยกเลิกเที่ยวบินบ่อยนั้น ภายในสัปดาห์นี้จะเรียกผู้บริหารสายการบินนกแอร์เข้ามาหารือถึงปัญหาที่ทำให้มีเที่ยวบินล่าช้า โดยจะพิจารณาถึงเงื่อนไข สาเหตุของปัญหาก่อนรวมถึงแผนการแก้ปัญหาด้วย ทั้งนี้ หากมีคำสั่งยกเลิกการบินไปเลยอาจจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และต้องยอมรับว่าสายการบินอื่นก็มีเที่ยวบินล่าช้าเช่นกัน ดังนั้นคงต้องหารือและรับฟังปัญหาและวิธีการแก้ไข รวมถึงระยะเวลาที่จะดำเนินการก่อน