“อาคม” เรียก “พาที” เตือน ยันเกิดเหตุซ้ำสองพักใช้ใบอนุญาต พร้อมสั่งแจงแผนแก้ปัญหาภายใน 18 ก.พ. ด้าน “พาที” ยอมรับพลาด ไม่มอบอำนาจคนในพื้นที่ทำให้แก้สถานการณ์ช้า เผยที่ผ่านมานักบินสมองไหล ต้องลดไฟลต์ 10-15% เร่งรับเพิ่ม 20-30 คนใน มี.ค.นี้ เผยชนวนประท้วงเหตุห้ามนักบินควบหน้าที่บริหาร ลั่นเดินหน้าปรับโครงสร้างยกระดับมาตรฐาน มั่นใจไม่กระทบเชื่อมั่น Load Factor 80-90%
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลัง นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เข้าพบว่า ได้เรียกซีอีโอนกแอร์มาว่ากล่าวตักเตือน ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกเมื่อมีการทำผิดเงื่อนไข หากเกิดซ้ำครั้งที่ 2 จะพักใช้ใบอนุญาต และหากเกิดซ้ำครั้งที่ 3 จะถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งตามอำนาจของ รมว.คมนาคม ในการออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ มีเงื่อนไขชัดเจนในเรื่องการดูแลผู้โดยสาร และการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมกับได้สั่งให้ซีอีโอนำแอร์ทำแผนแก้ปัญหาระยะสั้น รายงานกระทรวงคมนาคมในวันที่ 18 ก.พ.นี้ นอกจากนี้ ทุกสายการบินจะต้องส่งแผนแก้ปัญหาฉุกเฉิน หรือแผนเผชิญเหตุในทุกกรณีที่มีการยกเลิกเที่ยวบิน รวมถึงเหตุสุดวิสัย รายงานภายใน 1 เดือน รวมถึงภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะเชิญ 41 สายการบินมาทำความเข้าใจอีกครั้ง
ทั้งนี้ นกแอร์อยู่ระหว่างจัดโครงสร้างองค์กรในส่วนฝ่ายบริหาร เพื่อรองรับการตรวจสอบในอนาคต ซึ่งจะต้องมีการแยกส่วนของ Safety นักบิน ธุรกิจ ฯลฯ โดยเฉพาะนักบินกับฝ่ายบริหาร เพื่อไม่ให้แย่งเวลาระหว่างการบินกับการบริหาร ซึ่งในอดีตอาจจะต้องทำทั้ง 2 หน้าที่เพราะหาคนไม่ได้ แต่ตอนนี้ต้องแยก โดยทุกสายการบินต้องเสนอแผนมาที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อให้ทราบถึงประวัติการบินของนักบินซึ่งจะบันทึกชั่วโมงการบิน จะทราบว่ามีการบินเกินชั่วโมงที่กำหนดหรือไม่ด้วย
“กพท.มีกติกาเข้มข้น และจะต้องควบคุมอย่างเข้มข้น ซึ่งธุรกิจสายการบินเติบโตมาก ธุรกิจก็แข่งขันกันไป แต่จำเป็นต้องร่วมมือกันในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน เช่น กรณีมีภัยพิบัติ เหตุการณ์วันอาทิตย์ที่ 14 ก.พ.นั้นซีอีโอนกแอร์ต้องลงไปในพื้นที่ทันที หากไปไม่ได้ ก็ต้องมีผู้บริหารที่ได้รับมอบอำนาจในการตัดสินใจได้ แต่ไม่มี กลายเป็นความสับสนอลหม่าน ผู้โดยสารไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไร มีโรงแรม มีอาหารให้หรือไม่ ซึ่งนกแอร์ต้องแก้ไขเรื่องนี้” นายอาคมกล่าว
***“รมว.คมนาคม” รายงาน ครม.รับทราบปัญหาและการแก้ไข
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้รายงานเหตุการณ์ต่อ ครม. และการดูแลผู้โดยสารของนกแอร์ โดยเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ได้มีเที่ยวบินเช่าเหมาลำ 10 เที่ยวบิน เป็นของไลอ้อนแอร์ 5 เที่ยวบิน ไทยสมายล์ 3 เที่ยวบินและการบินไทย 2 เที่ยวบิน และนกแอร์ขอทำการบินแบบเช่าเหมาลำ ไปจนถึงวันที่ 17 ก.พ. เพื่อแก้ปัญหาภายในบริษัท นอกจากนี้ได้ให้ทุกสายการบินทำแผนบริหารความเสี่ยงเสนอกระทรวงคมนาคมภายใน 3 วัน
***“พาที” ยอมรับผิดพลาด ไม่มอบอำนาจคนในพื้นที่ ทำให้แก้สถานการณ์ช้า
นายพาที สารสิน ซีอีโอนกแอร์ กล่าวว่า นกแอร์จำเป็นต้องทำการบินแบบเช่าเหมาลำบางส่วนไปถึงวันที่ 17 ก.พ. เพราะมีนักบินส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวน จึงไม่ให้ทำการบิน แต่การสอบสวนจะเสร็จในเย็นวันที่ 16 ก.พ. ส่วนการให้นายสานิตย์ คงเพชร ออกนั้น เพราะพบว่าเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมานายสานิตย์ได้มาเซ็นชื่อรายงานตัวเพื่อเตรียมขึ้นทำการบิน ซึ่งนายสานิตย์บอกให้นักบินผู้ช่วยไปรอที่เครื่องบิน แต่แล้วกลับหายตัวไปโดยไม่แจ้งเหตุผล จึงถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ขอยอมรับว่าเหตุการณ์เมื่อวันอาทิตย์ 14 ก.พ.มีความผิดพลาด เนื่องจากเป็นวันวาเลนไทน์ ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อทราบเรื่องเร่งกลับมา ซึ่งรถติดมาก และประเด็นสำคัญคือ ไม่ได้ให้อำนาจคนที่สนามบินให้ตัดสินใจในการแก้ปัญหาได้ทันเวลา และจะเป็นเรื่องที่ต้องทำการแก้ไข หลังจากนี้จะต้องให้อำนาจคนที่อยู่ที่สนามบินตัดสินใจได้กรณีมีเหตุฉุกเฉิน เพื่อตอบสนองให้ผู้โดยสารเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก
***ลดไฟลต์ 10-15% เหตุนักบินสมองไหลเร่งรับเพิ่ม 20-30 คนใน มี.ค.นี้
ส่วนกรณีนักบินของนกแอร์ไม่พอนั้น ยอมรับว่ากัปตันและนักบินผู้ช่วยของนกแอร์ถูกสายการบินอื่นดึงไปอาจจะเป็นเรื่องของรายได้ โดยปัจจุบันมีนักบินประมาณ 120 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกนักบินเพิ่มประมาณ 20-30 คน จะทยอยเข้ามาช่วงเดือนมี.ค.- เม.ย.นี้ เป็นเรื่องที่ได้วางแผนไว้ก่อนหน้านี้แล้ว โดยที่ผ่านมาเมื่อนักบินลดลง ได้มีการปรับลดเที่ยวบินลงประมาณ 10-15% เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนนักบิน เพราะนักบินมีมาตรฐานกำหนดจำนวนชั่วโมงบินต่อปีเช่นกัน
“ผมไม่สนใจว่าเป็นปัญหาภายใน การเมืองภายใน แต่จะต้องไม่ทำให้ผู้โดยสารเดือดร้อน เป็นเรื่องจรรยาบรรณในการทำงาน ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ที่ผ่านมานกแอร์เผชิญเหตุการณ์หนักๆ ทั้งปิดสนามบิน น้ำท่วม ระบบล่ม แต่เรายังทำการบินและกลับมาได้ทุกครั้ง หรือล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ก.พ. สายพานกระเป๋าเสีย 4 ตัวของนกแอร์ สายการบินอื่นไม่เสีย หรือเรื่องดีเลย์ สายการบินก็ดีเลย์แต่ไม่พูดถึงกัน ไม่ดังเท่านกแอร์ อาจเพราะผมปีชงก็ได้ เพราะผมเกิดปีขาล” นายพาทีกล่าว
โดยยืนยันว่านักบินของนกแอร์ผ่านมาตรฐาน ICAO ไม่มีปัญหาเรื่องความปลอดภัย แต่ในช่วง 6 เดือน-1 ปีนี้นกแอร์อยู่ระหว่างยกระดับมาตรฐานระบบปฏิบัติการให้สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยของ IOSA (IATA Operation Safety Audit) และจะมีการตรวจสอบ (Audit) ปลายเดือน มี.ค.นี้ โดยบริษัทจะมีการปรับโครงสร้างในเชิงการบริหารที่เป็นมาตรฐาน IATA และเอียซ่า จึงได้เชิญพาร์ตเนอร์จากยุโรปเข้ามา PRE Audit ก่อน จากปกติทาง Flight Operation จะ Audit ตัวเองซึ่งผิดมาตรฐาน เพราะการ Audit ควรจะต้องอยู่ที่ฝ่าย Audit ไม่ใช่เป็นคนคนเดียวกัน Audit ตัวเอง จึงจะถอดการ Audit ออกจาก Flight Operation ซึ่งอาจเป็นเพราะมีการนำคนจากที่อื่นมาทำหน้าที่ Manager ส่วนนักบินที่เคยทำหน้าที่ Manager ด้วยให้เลือกหน้าที่เดียว คือนักบินหรือจะเป็น Manager ก็ได้ ไม่ได้ไล่นักบินออก เพียงแต่ให้ไปทำหน้าที่อย่างเดียว ปรากฏว่ามีการประท้วงขึ้น
อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่กระทบความเชื่อมั่นของผู้โดยสาร เพราะตั้งแต่เดือน ต.ค. 2558 เป็นต้นมามีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารรวม (Load Factor) เฉลี่ย 80-90% และเฉพาะวันที่ 15 ก.พ. Load Factor สูงถึง 93% ซึ่งเชื่อว่าปีนี้ Load Factor จะอยู่ในระดับสูงแต่รายได้ต่อคนต่อกิโลเมตร (Yield) ลดลงเพราะคู่แข่งมีการเพิ่มปริมาณการผลิตและลดราคาแข่งขันกัน แต่ยังมั่นใจว่าผลประกอบการอยู่ในจุดคุ้มทุนแน่นอน