ผู้จัดการรายวัน 360 - เผยปัจจัยบวก 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบนส่งผลปริมาณน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นถึงวันละ 450 ตัน อ.ส.ค.เร่งศึกษาความเป็นไปได้การจัดตั้งโรงงานแปรรูปนมที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง กำลังผลิต 150 ตันต่อวัน ใช้งบฯ 800-1,000 ล้านบาท มุ่งรองรับน้ำนมดิบ ช่วยลดปัญหานมล้นตลาด-ราคาตกต่ำ
ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยว่า เนื่องจากปริมาณน้ำนมดิบในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ และพะเยา มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 450 ตันต่อวัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 10% ต่อปี จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตรวมวันละประมาณ 400 ตัน ซึ่งอาจทำให้สหกรณ์โคนมและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาเรื่องการจำหน่ายผลผลิตและอาจมีปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาดเกิดขึ้นในระยะยาว เพราะโรงงานแปรรูปนมของ อ.ส.ค.ภาคเหนือตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงโรงงานของภาคเอกชนจะไม่สามารถรองรับน้ำนมดิบของเกษตรกรได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องขนส่งน้ำนมดิบส่วนเกินไปจำหน่ายในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางวันละกว่า 100 ตัน ทำให้เกิดต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งเพิ่มขึ้น
จากกรณีดังกล่าว อ.ส.ค.จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์นมภาคเหนือตอนบน ซึ่งอยู่ระหว่างเร่งศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานแปรรูปนมที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง กำลังการผลิตเฉลี่ยวันละ 150 ตัน ใช้งบลงทุนประมาณ 800-1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งรองรับปริมาณน้ำนมดิบในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เป็นการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาดและราคาตกต่ำที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ทั้งยังช่วยลดต้นทุนให้แก่สหกรณ์โคนม ซึ่งส่งผลดีต่อสหกรณ์และเกษตรกรสมาชิกจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในระยะยาว
“ขณะนี้คณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกับชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคเหนือตอนบนกำลังเร่งศึกษารูปแบบการจัดตั้งโรงงานแปรรูปนมดังกล่าวให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะที่มาของแหล่งเงินทุนที่จะใช้ก่อสร้างโรงงาน และแนวทางการบริหารจัดการโรงงานนมใหม่ รวมทั้งศึกษาข้อมูลปริมาณการผลิตน้ำนมดิบให้ชัดเจน พร้อมคัดเลือกพื้นที่อื่นที่ชุมนุมสหกรณ์ฯ เสนอให้พิจารณา คือ พื้นที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เพื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกัน”
ดร.ณรงค์ฤทธิ์กล่าวอีกว่า สำหรับที่มาของแหล่งเงินทุนที่จะใช้ก่อสร้างโรงงานแปรรูปนมแห่งใหม่อาจใช้รูปแบบการเช่า โดยเปิดให้ภาคเอกชนมาลงทุนก่อสร้างโรงงานและ อ.ส.ค.เช่าดำเนินการ ส่วนแนวทางการบริหารจัดการโรงงานอาจต้องปรับรูปแบบใหม่ โดยจะเปิดโอกาสให้สหกรณ์และเกษตรกรมีส่วนร่วมความเป็นเจ้าของโรงงานแปรรูปด้วยซึ่งจะมีการแบ่งปันผลกำไรที่ได้คืนให้สหกรณ์และเกษตรกร โดยอาจจะเป็นรูปแบบตัวเงินหรือผลตอบแทนอื่นซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการซื้อขายน้ำนมดิบในราคาประกันตามข้อตกลงในเอ็มโอยู (MOU) นอกจากนั้นยังจะเปิดให้ตัวแทนสหกรณ์โคนมและตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโรงงานใหม่ด้วย คาดว่าจะทำให้การบริหารจัดการโรงงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำนมดิบในพื้นที่ภาคเหนือเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มีความร่วมมือในการดูแลเอาใจใส่การเลี้ยงโคนมเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกรมปศุสัตว์ สถาบันการศึกษา และ อ.ส.ค. ประกอบกับสหกรณ์โคนมมีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการและดูแลเอาใจใส่สมาชิกอย่างใกล้ชิด ทำให้ระบบบริหารจัดการฟาร์มของเกษตรกรมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งการจัดการอาหารสัตว์และการจัดการดูแลสุขภาพโคนม ขณะเดียวกัน มาตรฐานการรับซื้อน้ำนมดิบซึ่งได้กำหนดราคารับซื้อตามเกณฑ์คุณภาพ เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับปรุงและพัฒนาระบบการจัดการฟาร์มโคนมดีขึ้น”
ดร.ณรงค์ฤทธิ์กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า พื้นที่ภาคเหนือยังมีข้อได้เปรียบเรื่องสภาพภูมิอากาศเย็น มีอาหารสัตว์ที่สมบูรณ์ เกษตรกรมีการใช้อาหารคุณภาพดีเลี้ยงโคนม เช่น อาหารทีเอ็มอาร์ (TMR) ส่งผลให้ได้น้ำนมดิบมากขึ้นถึง 25% โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวผลผลิตน้ำนมดิบจะเพิ่มสูงขึ้นมาก จึงจำเป็นต้องสร้างโรงงานแปรรูปนมในพื้นที่ภาคเหนือเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับปริมาณน้ำนมดิบที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น