กรมควบคุมโรค เตือน “โรคแท้งติดต่อในสัตว์” แพร่สู่คนได้ ผ่านการดื่มน้ำนมดิบ กินเนื้อสัตว์ดิบ ๆ หรือ ดิบ ๆ สุก ๆ เสี่ยงพบอาการทางประสาท ตา และ หัวใจ เผยติดจากคนไปคนน้อยมาก ระบุ คนทำฟาร์มกลุ่มเสี่ยง แนะวิธีระวังตัว
วันนี้ (8 ก.ค.) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีข่าวพบผู้ป่วยโรคแท้งติดต่อในสัตว์ หรือ โรคบรูเซลโลซิส (Brucellosis) ว่า โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย “บรูเซลลา” ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ ทำให้สัตว์หลายชนิดมีอาการเจ็บป่วย รวมทั้งมนุษย์ โดยทั่วไปจะมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ของสัตว์ และทำให้สัตว์แท้ง หรือลูกตายก่อนคลอดได้ ส่วนการติดต่อจากสัตว์สู่คน เกิดจาก การสัมผัสสิ่งปนเปื้อน เช่น น้ำนม เลือด รก น้ำเมือก มูลหรือปัสสาวะสัตว์ โดยเชื้อโรคสามารถเข้าทางบาดแผล หรือรอยถลอก นอกจากนี้ อาจเกิดจากการดื่มน้ำนมดิบ หรือบริโภคเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ที่ติดเชื้อโดยไม่ได้ปรุงให้สุก หรือผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อ โดยเชื้อนี้มีระยะฟัก ตั้งแต่ 1 สัปดาห์ จนถึงนานกว่า 2 เดือน (ทั่วไปประมาณ 1 - 2 เดือน) หากติดต่อสู่คนแล้ว มักจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไปแบบเรื้อรังมากกว่าเฉียบพลัน ได้แก่ มีไข้สูง ๆ ต่ำ ๆ แบบเรื้อรัง เหงื่อออกตอนกลางคืน ปวดหัว ปวดหลัง อาจพบข้ออักเสบ ปวดเมื่อยตามร่างกายทั่วไป น้ำหนักลด ในรายที่มีการติดเชื้อเป็นเวลานาน อาจพบอาการทางระบบประสาท ตาหรือหัวใจได้ แต่น้อยมาก ปัจจุบันโรคนี้มียาปฏิชีวนะรักษาให้หายขาดได้
“กลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ที่ทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือทำงานเกี่ยวกับสัตว์ ผู้ที่กินเนื้อสัตว์ดิบ ๆ สุก ๆ หรือดื่มนมที่ปนเปื้อนเชื้อ ส่วนวิธีป้องกันโรค ดังนี้ 1. ไม่กินเนื้อสัตว์ดิบ ๆ หรือ ดิบ ๆ สุก ๆ และไม่ดื่มน้ำนมดิบ หรือผลิตภัณฑ์นมที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอไรส์ 2. สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือ ผ้าปิดจมูกและปากเมื่อต้องสัมผัสเนื้อเยื่อในระบบสืบพันธุ์ในการทำคลอดสัตว์ และล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสตัวสัตว์ และ 3. ถ้าสงสัยป่วยด้วยโรคนี้ให้รีบไปพบแพทย์” อธิบดี คร. กล่าว
นพ.อำนวย กล่าวว่า โรคนี้ถือเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งต้องรายงานต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อทันที โรคนี้โดยทั่วไปพบในสัตว์ เช่น โค กระบือ แพะ แกะ หมู อูฐ และสุนัข เป็นต้น และสามารถติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้ การติดต่อจากคนสู่คนพบได้น้อยมาก ส่วนสถานการณ์ของโรคนี้ในคนนั้น ประเทศไทยพบได้ประปรายเป็นครั้งคราว โดยพบผู้ป่วยในไทยครั้งแรกเมื่อปี 2513 จากนั้นไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคนี้ จนเมื่อปี 2546 พบผู้ป่วยอีกครั้งและพบประปรายจนถึงปัจจุบัน จากข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี 2546 - 2557 มีรายงานพบผู้ป่วย จำนวน 127 ราย หรือเฉลี่ยปีละ 5 - 10 ราย ส่วนปี 2558 ที่ผ่านมา พบเพียง 5 ราย นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ และโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอย่างบูรณาการในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติ ให้สามารถป้องกัน แก้ไขปัญหา และควบคุมโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน โรคติดต่ออุบัติใหม่ อย่างมีประสิทธิผลและทันต่อเหตุการณ์
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่