กรมวิทย์ ชี้ “หมอไทย” จ่ายยาปฏิชีวนะเสรี ทำเชื้อดื้อยา เผยไม่ยอมรอผลแล็บ เหตุผลตรวจช้า หนุนมาตรการจ่ายยาหลังแล็บตรวจยืนยันเชื้อ ช่วยคุมปัญหาได้ แต่ต้องพัฒนาผลตรวจให้ไวและแม่นยำ ยก จีน - ญี่ปุ่น คุมจ่ายยาเข้มกว่าไทย
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงร่างยุทธศาสตร์เชื้อดื้อยา พ.ศ. 2560 - 2564 ที่จะผลักดันให้ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ของโรงพยาบาล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจยืนยันเชื้อแบคทีเรียก่อน แพทย์จึงจ่ายยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านแบคทีเรีย ว่า แนวคิดดังกล่าวสามารถช่วยลดปัญหาเชื้อดื้อยาได้ ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศก็ใช้แนวทางนี้ในการจ่ายยาปฏิชีวนะ คือ ต้องให้ห้องแล็บตรวจยืนยันเสียก่อนว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียจริง จึงจะจ่ายยาปฏิชีวนะ ทำให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะน้อย ปัญหาเชื้อดื้อยาก็จะน้อย เช่น ประเทศญี่ปุ่น โดยประเทศต่าง ๆ ที่ใช้แนวทางดังกล่าวมีข้อสัญญาว่า ภายในปี 2020 กลุ่มประเทศที่เจริญแล้ว ต่างให้ข้อสัญญาว่าจะไม่จ่ายยาฆ่าเชื้อโรค ถ้าไม่สามารถตรวจยืนยันได้ว่าเป็นเชื้ออะไร
“สำหรับประเทศไทยถือว่ามีอิสรเสรีในการจ่ายยาปฏิชีวนะอย่างมาก ทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยามาก แม้แต่ประเทศจีนยังมีการควบคุมการจ่ายยาปฏิชีวนะมากกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม มาตรการตรวจเชื้อที่ห้องแล็บนั้น ทุกโรงพยาบาลมีการดำเนินการอยู่แล้ว เพียงแต่ที่แพทย์ไม่รอผลตรวจยืนยันก่อนจ่ายยานั้น สาเหตุหนึ่งเพราะกลัวคนไข้กลับบ้านไปก่อน และผลตรวจยังช้าอาจไม่ทันการณ์ จึงให้ยาไปก่อน ทั้งที่จะใช่หรือไม่ใช่ก็ยังไม่ทราบ แต่คาดเดาจากอาการแล้วให้ยาไปก่อน แล้วค่อยรอผลตรวจยืนยันภายหลัง” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว
นพ.อภิชัย กล่าวว่า เรื่องนี้แพทย์อาจไม่ค่อยอยากทำ เพราะเป็นการจำกัดสิทธิในการใช้ยา แต่หาก สธ. เห็นความสำคัญของเชื้อดื้อยาก็ต้องออกมาเป็นมาตรการควบคุม ว่า ห้ามจ่ายยาปฏิชีวนะจนกว่าจะมีผลตรวจยืนยันที่ชัดเจน แต่ปัญหาคือจะต้องพัฒนาห้องแล็บให้ตรวจได้รวดเร็วขึ้นและแม่นยำขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา จากการทดสอบความชำนาญในการตรวจเชื้อดื้อยาใน รพ. จังหวัด พบว่า ยังไม่แม่นยำเท่าที่ควร และเชื้อบางตัวที่มีความยากยังใช้เวลานานในการตรวจ เช่น 2 - 7 วัน หรือต้องส่งมาให้กรมวิทย์ตรวจ จึงต้องมีการพัฒนาตรงนี้ด้วย โดยกรมวิทย์ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาขององค์การอนามัยโลกก็จะช่วยพัฒนา เพราะศักยภาพของกรมฯ สามารถตรวจได้ภายใน 2 - 3 นาที ก็จะถ่ายทอดประสบการณ์ฐานข้อมูลนี้ให้แก่ รพ. ทั่วประเทศให้ตรวจเชื้อได้เร็วขึ้น แพทย์ไม่ต้องเดาว่าต้องใช้ยาอะไร แต่อยู่ที่ว่า รพ. จะเห็นความสำคัญของเรื่องนี้หรือไม่ที่จะลงทุนในการพัฒนาห้องแล็บ โดยเบื้องต้นมองว่า รพ. จังหวัดหลายแห่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่