รมว.สาธารณสุข แจงถอนยาต้านแบคทีเรีย อยู่ระหว่างคณะอนุฯ ทบทวนตำรับยาพิจารณา ห่วงปัญหาเชื้อดื้อยา สั่งทุกโรงพยาบาลใช้ยาสมเหตุผล ชี้บางตัวไม่ต้องเพิกถอน ผู้ผลิตพร้อมเปลี่ยนสูตรยาใหม่
จากกรณีศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เตรียมยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพิกถอนทะเบียนยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านแบคทีเรีย มากกว่า 40 สูตรตำรับยา รวมกว่า 100 ทะเบียนยา ซึ่งก่อให้เกิดเชื้อดื้อยา
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า หากจะขอเข้าพบก็ยินดี เพราะตนได้จัดเรื่องเชื้อดื้อยาเป็นนโยบายหนึ่งของ สธ.ที่จะต้องลดปัญหาดังกล่าว และมอบหมายให้โรงพยาบาลในสังกัด สธ.ทั่วประเทศเริ่มดำเนินการลดปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผล ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา โดยให้เริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 หรือปีงบประมาณ 2560 ทันที โดยจะมีทั้งการให้ข้อมูลและกำกับดูแลการสั่งจ่ายยาของแพทย์ให้เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล เชื่อว่าแพทย์ส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องนี้ดี ไม่ใช่ว่าคนไข้ป่วยเป็นไข้หวัดต้องจ่ายยาปฏิชีวนะทั้งหมดก็ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนเรื่องการกินยา ต้องกินต่อเนื่องตามแพทย์สั่งด้วย ที่ผ่านมา สธ.ได้ทำงานร่วมกับคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ที่มี ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธาน รวมทั้งยังทำงานร่วมกับคณะอนุกรรมการทบทวนตำรับยาแผนปัจจุบันของมนุษย์ของ อย.ซึ่งในเรื่องของการทบทวนยาปฏิชีวนะนั้นอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ ไม่ได้นิ่งนอนใจ
นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า การเพิกถอนยาใดก็ตามต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ใช่ว่าจะถอนออกได้ทันที ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาทั้งจากคณะอนุกรรมการทบทวนตำรับยาฯ รวมทั้งข้อมูลจากคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และบางตัวก็ไม่จำเป็นต้องเพิกถอน แต่สามารถยกระดับเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องมีใบสั่งแพทย์ เป็นต้น แต่ในส่วนของยาบางชนิด จากการพูดคุยแล้วผู้ผลิตยาทราบดีว่าต้องมีการเปลี่ยนสูตรการผลิต ก็อยู่ระหว่างดำเนินการ อาทิ ยาอมที่มีส่วนผสมของ “นีโอมัยซิน” ซึ่งไม่ได้ฆ่าเชื้อในลำคอ แต่กลับทำให้เกิดการดื้อยา ทางผู้ผลิตอยู่ระหว่างเปลี่ยนจากนีโอมัยซิน เป็น “ซิงค์” แทน แต่หลายตัวก็ต้องเพิกถอน หรืออาจต้องยกระดับเป็นควบคุมพิเศษ โดยเรื่องนี้กำลังทำอยู่ ต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ว่าจะทำได้โดยข้ามขั้นตอนต่างๆ ก็ไม่ถูกต้อง
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า การใช้ยาให้สมเหตุสมผล เบื้องต้นจะมีการดำเนินการ 3 ส่วน คือ 1. ต้นน้ำ โดยหารือกับบริษัทยาต่างๆ ส่วนใหญ่ทราบปัญหาและยินดีจะเปลี่ยนสูตรยา 2. กลางน้ำ คือ ผู้สั่งจ่ายยา ทั้งแพทย์ และเภสัชกร โดยจะมีการทำหลักสูตรการเรียนการสอนแก่นักศึกษาแพทย์ และเภสัชกรเกี่ยวกับการจ่ายยาอย่างสมเหตุสมผล และ 3. ปลายน้ำ การให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการใช้ยา เพราะหลายคนยังเข้าใจว่าการป่วยเป็นไข้หวัด เจ็บคอ หรือไอ ต้องใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย ทั้งที่การเจ็บป่วยเหล่านี้มาจากเชื้อไวรัส แต่หากกินยาต้านเชื้อแบคทีเรียจะทำให้ไปฆ่าเชื้อดีๆ ในร่างกายเราหมด สุดท้ายเมื่อป่วยจากเชื้อแบคทีเรียก็ไม่หาย เกิดการดื้อยาในที่สุด โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างดำเนินการ และจะทำคู่ขนานไปด้วยกัน ส่วนข้อเรียกร้องให้เพิกถอนยาต้านแบคทีเรียนั้น คณะกรรมการฯ อยู่ระหว่างดำเนินการ มีการรวบรวมรายชื่อยาที่เข้าข่ายซึ่งทำงานร่วมกับทั้ง สธ.และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง อย่างยาอมที่มีส่วนผสมของนีโอมัยซินก็กำลังพิจารณาว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร และยังมีตัวยาอื่นๆ อีกเช่นกัน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่