xs
xsm
sm
md
lg

พบอีก! โจ๋มะกันซื้อ “ยาเร่งสร้างกล้ามเนื้อ” จากไทยผ่านเน็ต ไม่พ้นมือหน่วย D.E.A.สหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พบอีก!! โจ๋มะกันสั่งซื้อยาเร่งสร้างกล้ามเนื้อ “อนาบอลิก สเตียรอยด์” จากไทยผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่รอดจับตาหน่วย D.E.A. สหรัฐฯ อย. ชี้ นักกีฬานิยมใช้ แต่สหรัฐฯ คุมเข้ม ทำให้ต้องสั่งออนไลน์ เผยไทยจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องมีใบสั่งแพทย์

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีสาวญี่ปุ่นซื้อยาลดความอ้วนจากตัวแทนจำหน่ายของโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ผ่านอินเทอร์เน็ต ว่า กรณีนี้ไม่ใช่กรณีเดียวที่เกิดขึ้น อย่างที่ผ่านมาไทยก็เคยได้รับหนังสือจากสถานทูตรัสเซีย ว่า มีคนจากประเทศเขาซื้อยาผ่านอินเทอร์เน็ตจากประเทศไทย โดยทำหนังสือมาสอบถามว่าเป็นยาที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง มีความปลอดภัยหรือไม่ ทั้งนี้ ย้ำว่า การซื้อยาผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องอันตราย เพราะอาจได้รับยาปลอมหรือยาไม่มีคุณภาพ ที่สำคัญ การขายยาผ่านอินเทอร์เน็ต ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะ พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 กำหนดชัดเจนว่าต้องไม่ขายภายนอกสถานที่ตามที่อนุญาต และยาไม่ใช่สินค้าทั่วไป การซื้อจึงต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากผู้ปฏิบัติวิชาชีพโดยตรง

“จริง ๆ แล้วไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น ที่มีปัญหาเรื่องการซื้อยาผ่านอินเทอร์เน็ต แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะยาหลายตัวนั้นสหรัฐฯ จะคุมเข้มมาก อย่าง “อนาบอลิก สเตียรอยด์” ซึ่งเป็นยาเร่งกล้ามเนื้อที่นักกีฬา หรือนักเพาะกล้าม นิยมใช้โด๊ปในการสร้างกล้ามเนื้อ สหรัฐฯ ถือว่าเป็นตัวสำคัญต้องห้าม โดยต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ทำให้พวกวัยรุ่นอยากซื้อมารับประทานเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ จึงต้องสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ตมารับประทาน ซึ่งพบว่า หน่วยปราบปรามยาเสพติดสหรัฐฯ (D.E.A.) ก็มีการสืบสวนติดตามเรื่องนี้ ก็พบว่า มีการสั่งซื้อยาดังกล่าวผ่านอินเทอร์เน็ต และส่งผ่านทางไปรษณีย์มาจากประเทศไทย ซึ่งมีทั้งที่ส่งจากประเทศไทยโดยตรงและมีประเทศไทยเป็นทางผ่าน” รองเลขาธิการ อย. กล่าวและว่า สำหรับยาอนาบอลิก สเตียรอยด์ ในประเทศไทยนั้นยังถือว่าเป็นยาควบคุมพิเศษ ยังไม่ถึงขั้นเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ร้านขายยาจึงสามารถสั่งมาอยู่ในความครอบครองได้ แต่ต้องมีใบสั่งแพทย์ถึงจะซื้อได้

ผศ.ดร.ภญ.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค อนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งของการซื้อยาลดความอ้วนผ่านอินเทอร์เน็ต คือ จะเป็นลักษณะของอาหารเสริม แต่มีสรรพคุณอวดอ้างว่าลดน้ำหนัก บางยี่ห้อมีดารา เซเลบ เน็ตไอดอล มาเป็นพรีเซนเตอร์ถือสินค้า จึงอยากย้ำว่าผลิตภัณฑ์อาหารไม่สามารถอวดอ้างสรรพคุณการบรรเทารักษาได้ รวมไปถึงการลดความอ้วน ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทัน ซึ่งหากเห็นผลิตภัณฑืลักษณะเช่นนี้ไม่ควรซื้อ โดยอาจตรวจสอบจากบัญชีดำของ อย.

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น