xs
xsm
sm
md
lg

ยื่น อย.ถอน “ยาต้านแบคทีเรีย” ไม่คืบหน้า จ่อยื่น รมว.สธ.แทน ด้าน อย.เล็งยกระดับยาอันตราย-ควบคุมพิเศษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กพย. เร่งประสาน รมว.สธ. ยื่นข้อมูลเพิกถอน “ยาต้านแบคทีเรีย” เผย ยื่น อย.- คกก.ยา หลายครั้ง แต่ไม่คืบหน้า ห่วงเชื้อบางตัวดื้อยาไม่มียารักษา อย. แจงเพิกถอนทะเบียน ต้องผ่านการพิจารณาคณะกรรมการยา อยู่ระหว่างการทบทวนทะเบียน เล็งยกระดับเป็นยาอันตราย - ยาควบคุมพิเศษ

ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีเตรียมยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพิกถอนทะเบียนยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านแบคทีเรีย มากกว่า 40 สูตรตำรับยา ซึ่งก่อให้เกิดเชื้อดื้อยา ว่า ขณะนี้กำลังประสาน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่ในการขอเข้าพบเพื่อยื่นข้อมูลปัญหาเชื้อดื้อยาโดยรวมที่จำเป็นต้องมีการเพิกถอนมีอยู่ประมาณ 40 - 50 สูตร หรือประมาณ 100 ทะเบียนยา โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. สูตรตำรับต่าง ๆ ยกตัวอย่าง ยาแก้ท้องเสีย 80% อาการท้องเสียเกิดจากเชื้อไวรัส หรืออาหารเป็นพิษ จึงไม่ต้องใช้ยาต้านแบคทีเรียเลย ขณะที่ยาเหน็บทวารหนักสำหรับโรคริดสีดวงทวาร ก็ยังมีการใส่ยาต้านแบคทีเรียด้วย หรือแม้แต่ยาเหน็บช่องคลอดด้วยเช่นกัน 2. ยารูปแบบไม่ดี เช่น ยาอมที่ไปใส่ยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะนีโอมัยซิน ซึ่งเป็นกลุ่มยาอันตราย เนื่องจากยาชนิดไม่ออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการเจ็บคอ แต่ไปออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดเชื้อดื้อยา 3. ยาฝาแฝด มีสี มีรูปลักษณ์เหมือนกันหมด แต่ตัวยาคนละตัว ซึ่งถือว่าอันตรายมาก 4. ข้อบ่งใช้ไม่ได้ อาทิ ยาบางชนิดบอกแก้ปวดมดลูก ทั้งที่ปัจจุบันไม่มียาตัวไหนที่แก้อาการปวดมดลูกได้

“หลายคนบอกว่า การออกขอให้เพิกถอนสูตรยาต่าง ๆ นั้น ต้องมีงานวิจัยรองรับ ในความเป็นจริงข้อมูลวิชาการก็ชัดเจนว่า การใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง ยาอมที่ผสมยาปฏิชีวนะ แม้อมเพียงเล็กน้อยก็มีโอกาสเชื้อดื้อยาได้ ปัญหาคือเราเตือนกันมานาน แต่ไม่เป็นผล เคยเข้าพบ อย. และพูดในคณะกรรมการยา รวมทั้งจัดประชุมวิชาการเตือนภัยต่าง ๆ แต่เรื่องก็ไม่คืบหน้า จึงมองว่า หนทางเดียวคือต้องขอเข้าพบ นพ.ปิยะสกล เพื่อเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เนื่องจากการดื้อยานั้นจะส่งผลกรณียาบางตัวเมื่อดื้อแล้วจะไม่มียาชนิดอื่นรักษาได้อีก และบางตัวยังก่อพิษได้ด้วย อย่างกรณีที่ทำให้เชื้อแบคทีเรียในลำไส้ดื้อยา เป็นต้น” ภญ.นิยดา กล่าว

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า โดยหลักการการเพิกถอนทะเบียนยา จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการยาก่อน โดยการจะนำตำรับยาชนิดใดก็ตามเข้าสู่การพิจารณาจะมี 2 สาเหตุ คือ 1. เป็นยาที่ใช้แล้วไม่เกิดสรรพคุณจริง และ 2. ไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ยา ส่วนกรณีหากเป็นยาไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคก็ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการทบทวนทะเบียนตำรับยา ซึ่งกรณีเชื้อดื้อยานั้น มีข้อเสนอมาและทาง อย. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยคณะอนุกรรมการทบทวนทะเบียนตำรับยาพิจารณาแล้ว และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกียวข้อง ขณะนี้อยู่ในช่วงประมวลความคิดเห็นอยู่ อย่างไรก็ตาม กรณีเชื้อดื้อยา กลุ่มยาที่คิดว่าทำให้เชื้อดื้อยานั้นหากจะต้องมีการแก้ไขกฎระเบียบ อาจทำในลักษณะเดิมเป็นกลุ่มยาสามัญประจำบ้าน อาจยกระดับเป็นยาอันตรายที่ต้องขายในร้านขายยา แต่กรณีที่เป็นยาอันตรายอยู่แล้ว หากต้องยกระดับอีกก็จะต้องยกเป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งต้องผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์ก่อน ส่วนกรณีดังกล่าวต้องอยู่ที่การพิจารณา ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะออกมารูปแบบใด

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น