นักวิจัยชี้ ข้อมูลเชื้อดื้อยาไทยเก็บจากจำนวนเชื้อ ไม่ใช่ผู้ป่วย เป็นตัวชี้วัดขั้นต่ำของ WHO ละเอียดไม่เท่ามะกัน - อียู แนะทำฐานข้อมูลกลางระดับประเทศ ติดตามระดับผู้ป่วย ช่วยได้ข้อมูลสถานการณ์ที่เป็นจริง เผย บรรจุอยู่ในร่างยุทธศาสตร์เชื้อดื้อยาแล้ว
วันนี้ (13 ก.ค.) ในงานเสวนาวิชาการ (Coffee Talk Series) : เชื้อดื้อยาปัญหาแห่งชาติ จัดโดยศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.นพ.ดิเรก ลิ้มมธุรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาสุขวิทยาเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล กล่าวว่า เชื้อดื้อยาเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนทราบดี แต่การจะทราบว่าเป็นปัญหาใหญ่เพียงใดนั้น จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดที่เหมาะสม และสามารถใช้เปรียบเทียบกับตัวชี้วัดเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ได้ ซึ่งข้อมูลปัญหาเชื้อดื้อยาที่เผยแพร่อยู่ในปัจจุบันนั้น คือ สหภาพยุโรป หรือ อียู มีอัตราตายส่วนเกินที่เกิดจากเชื้อดื้อยา 25,000 รายต่อปี สหรัฐอเมริกา มีอัตราตายส่วนเกินที่เกิดจากเชื้อดื้อยา 23,000 รายต่อปี ส่วนประเทศไทยที่มีจำนวนประชากรน้อยกว่ามาก มีอัตราตายส่วนเกินที่เกิดจากเชื้อดื้อยา 19,000 รายต่อปี ทำให้มองว่าเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาใหญ่ แต่วิธีการเก็บข้อมูลนั้นมีความแตกต่างกัน
ผศ.นพ.ดิเรก กล่าวว่า ในส่วนของอียู และสหรัฐฯ นั้น จะใช้อัตราตายส่วนเกินที่เกิดจากเชื้อดื้อยาเพื่อแสดงถึงขนาดของปัญหาในภาพรวม และใช้ตัวชี้วัดอื่น ๆ เพิ่มเติมในการติดตามว่าปัญหาเชื้อดื้อยาในแต่ละสถานพยาบาล และในแต่ละปี ดีขึ้นหรือแย่ลง ซึ่งตัวชี้วัดที่ใช้เป็นมาตรฐานและที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ คือ การใช้อัตราการติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อดื้อยาแต่ละตัวต่อประชากรแสนราย และ อัตราการติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อดื้อยาแต่ละตัวต่อการครองเตียงแสนวัน ส่วนตัวชี้วัดปัจจุบันที่มีข้อมูลในประเทศไทยเป็นต่อจำนวนเชื้อ ไม่ใช่ตามจำนวนผู้ป่วย ซึ่งเป็นตัวชี้วัดขั้นต่ำที่องค์การอนามัยโลกแนะนำสำหรับประเทศที่มีรายได้น้อย ทำให้นำมาใช้ติดตามปัญหาชื้อดื้อยาได้ไม่เพียงพอ เพราะหากไม่ส่งตรวจเชื้อ ก็เท่ากับว่า ไม่มีเชื้อดื้อยา หรือผู้ป่วยบางรายหมอส่งตรวจทุกวัน ก็จะทำให้ดูเหมือนมีปัญหามาก ซึ่งในร่างยุทธศาสตร์เชื้อดื้อยาแห่งชาติ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเสนอเข้า ครม. นั้น ก็มียุทธศาสตร์หนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องการจัดทำฐานข้อมูลระดับประเทศ และพัฒนาตัวชี้วัดเพื่อให้เป็นการติดตามในระดับผู้ป่วย ซึ่งหากมีการบูรณาการฐานข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ร่วมกันได้ จะช่วยให้ได้ข้อมูลใช้ติดตามสถานการณ์การติดเชื้อในแต่ละสถานพยาบาล และในประเทศได้อย่างเหมาะสม
“ในแต่ละสถานพยาบาล และในแต่ละภาคส่วนทุกวันนี้ ฐานข้อมูลเชื้อดื้อยาในห้องปฏิบัติการก็มักจะอยู่กับฝ่ายห้องปฏิบัติการ ฐานข้อมูลการเข้านอนโรงพยาบาลก็มักจะอยู่กับฝ่ายสถิติ และฐานข้อมูลการเสียชีวิตก็อยู่กับสำนักนโยบายและแผน และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ในหน่วยงานที่เป็นกลาง และเป็นเครือข่ายระดับชาติ จะสามารถพัฒนาฐานข้อมูล และการนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้” ผศ.นพ.ดิเรก กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาเชื้อดื้อยาไม่ใช่แค่ปัญหาเฉพาะโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาของทุกคน ประชาชนทั่วไปก็ต้องมีความตระหนักรู้ ไม่เสพติดยาปฏิชีวนะ หรือที่เรียกผิดว่า “ยาแก้อักเสบ” และ มีความเข้าใจในการใช้ยาปฏิชีวนะ และความเสี่ยงที่จะติดเชื้อดื้อยาทั้งนอกและในโรงพยาบาล การกระจายของเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อมรอบตัว ดังนั้น การลดปัญหาเชื้อดื้อยา จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ถึงจะประสบความสำเร็จ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่