xs
xsm
sm
md
lg

ชง ครม.คลอดยุทธศาสตร์ลดเชื้อดื้อยา ดันแล็บทุก รพ.ตรวจคอนเฟิร์มก่อนจ่ายยาปฏิชีวนะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. จ่อชง ครม. คลอดยุทธศาสตร์เชื้อดื้อยาฯ วางแนวทางแก้ปัญหาทั้งเพิกถอนทะเบียน ปรับสูตร ยกระดับยา การใช้ยาปฏิชีวนะใน รพ. และให้ความรู้ ปชช. เล็งพัฒนาห้องแล็บทุก รพ. ตรวจคอนเฟิร์มคนไข้ป่วยจากเชื้อแบคทีเรียจริง มีภาวะดื้อยาหรือไม่ ก่อนหมอจ่ายยาปฏิชีวนะ ช่วยลดปัญหาเชื้อดื้อยา รู้สถานการณ์ภาพรวมระดับประเทศ

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีข้อเรียกร้องให้ปรับสูตรยาและเพิกถอนทะเบียนยาปฏิชีวนะ หรือ ยาต้านแบคทีเรียกว่า 40 - 50 ตำรับ รวมกว่า 100 ทะเบียนยา ว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาทบทวนตำรับยาแผนปัจจุบันของมนุษย์ ของ อย. ได้มีการพิจารณายาปฏิชีวนะแต่ละตัวที่มีข้อเรียกร้องแล้ว แต่ที่ดูเหมือนว่ายังไม่ได้ดำเนินการนั้น เนื่องจากขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังแก้ปัญหาเรื่องเชื้อดื้อยาในภาพใหญ่ระดับประเทศ โดยได้มีการจัดทำร่างยุทธศาสตร์เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial resistance: AMR) ซึ่ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เห็นชอบร่างดังกล่าวแล้ว อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ซึ่งยุทธศาสตร์นี้เป็นยุทธศาสตร์ระดับประเทศ ต้องขับเคลื่อนพร้อมกันหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเชื้อดื้อยาไม่ใช่แค่ สธ. เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมที่ดูเรื่องการผลิตยา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ดูแลเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะทางการเกษตร และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการให้ความรู้เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้องแก่ประชาชน เป็นต้น โดยข้อเสนอเรื่องการปรับสูตร การยกระดับ และการเพิกถอนทะเบียนยาปฏิชีวนะ ถือเป็นส่วนหนึ่งในร่างยุทธศาสตร์ จึงต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า รายละเอียดของร่างยุทธศาสตร์ฯ จะมีการพูดถึงแนวทางการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา คือ 1. การเพิกถอนทะเบียนยาปฏิชีวนะ เช่น ยาปฏิชีวนะที่เป็นยาสามัญประจำบ้านก็จะเพิกถอนจากการเป็นยาสามัญประจำบ้านทั้งหมด เป็นต้น 2. การยกระดับยา เช่น ยาปฏิชีวนะในกลุ่มยาบรรจุเสร็จก็จะยกระดับเป็นยาอันตรายที่จะขายในร้านขายยาโดยมีเภสัชกรดูแล เป็นต้น 3. การปรับเปลี่ยนสูตรยา เช่น กลุ่มยาอมผสมยาปฏิชีวนะ ซึ่งผู้ผลิตก็สมัครใจที่จะเปลี่ยนสูตรยาให้ เป็นต้น 4. แนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะในโรงพยาบาล ซึ่ง สธ. ก็มีนโยบายให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัดใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล คือ ไม่จำเป็นไม่ควรใช้ เช่น เป็นหวัด ท้องเสีย เจ็บคอ ที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียก็ไม่ควรให้ยา และควรจ่ายยาตามลำดับขั้น ไม่ใช่จ่ายยาแรงที่สุด 5. การใช้ยาปฏิชีวนะในทางการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ เช่น กรณีผสมยาปฏิชีวนะลงไปในอาหารสัตว์ การใส่ยาปฏิชีวนะในบ่อกุ้งเพื่อฆ่าเชื้อ เป็นต้น และ 6. การให้ความรู้ประชาชนที่ถูกต้อง เพราะปัญหาส่วนหนึ่งก็เกิดจากประชาชนเรียกร้องยาปฏิชีวนะ และกินไม่ครบโดสที่กำหนด ซึ่งทั้งหมดจึงต้องขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน

“ในร่างยุทธศาสตร์ยังมีพูดถึงแนวทางให้ห้องปฏิบัติการ หรือ ห้องแล็บ ของโรงพยาบาลและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เข้ามามีส่วนร่วมในการวินิจฉัยของแพทย์ ว่า จะจ่ายยาปฏิชีวนะหรือไม่ โดยต้องมีการส่งตรวจทางห้องแล็บ ว่า การป่วยของคนไข้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียจริงหรือไม่ และเชื้อนั้นมีความดื้อยาหรือไม่ ดื้อยารุนแรงเพียงใด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาของแพทย์ว่าจะจ่ายยาปฏิชีวนะหรือไม่ ใช้ยาตัวใด ต้องใช้ยาแรงระดับไหน ซึ่งหากไม่ตรวจวิเคราะห์เช่นนี้แล้วไปใช้ยาแรงที่สุด จะมีโอกาสทำให้เชื้อดื้อยาได้ เพราะเชื้อแบคทีเรียมีการปรับตัววิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอด ทำให้เมื่อดื้อยาแล้ว จะเกิดภาวะคนไข้ไม่สนองตอบต่อยาหรือไม่มียาใช้นั่นเอง โดยขณะนี้ตาม รพ.ขนาดใหญ่ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถตรวจได้แล้ว ก็จะพัฒนาให้สามารถตรวจได้ถึงระดับห้องแล็บของโรงพยาบาลชุมชนในอนาคต นอกจากนี้ เมื่อทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศใช้ห้องแล็บมาช่วยวิเคราะห์การจ่ายยาปฏิชีวนะ ก็จะช่วยให้มีข้อมูลระดับประเทศ ว่า สถานการณ์เชื้อดื้อยาของประเทศไทยเป็นอย่างไร มีเชื้อตัวไหนดื้อยาบ้างและดื้อยามากน้อยเพียงใด” รองเลขาธิการ อย. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น